ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณอาจปรับลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรภายในปีนี้

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/8) ที่ระดับ 3337/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/8) ที่ระดับ 33.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลักหลังจากวันพุธที่ผ่านมา (18/8) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนกรกฎาคม โดยระบุว่า คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีความเห็นเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่จะพิจารณาปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในช่วงปีนี้

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นเป็นไปตามที่คาดการณ์ อีกทั้งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวของการจ้างงานของสหรัฐที่ใกล้ถึงระดับเป้หมาย อย่างไรก็ตามตลาดจับตาดูการประชุมประจำปีของเฟด ณ เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ โดยตลาดคาดว่าเฟดจะชี้แจงช่วงระยะเวลาในการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขจำนวนใบอนุญาตก่อสร้างของสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 1.64 ล้านหน่วย ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 1.61 ล้านหน่วย

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนยังคงจับตาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอย่างใกล้ชิด หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ (19/8) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 20,902 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,754 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 148 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมจนถึงวันนี้ 989,859 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 309 ราย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.31-33.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (19/8) ที่ระดับ 1.1682/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/8) ที่ระดับ 1.1715/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก เป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือครองดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัย

นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรปได้เปิดเผยตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของสหภาพยุโรปประจำเดือนมิถุนายนที่ระดับ 21.8 พันล้านยูโร ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 12.3 พันล้านยูโร อย่างไรก็ตามตลาดรอสัญญาณจากธนาคารกลางยุโรปเพิ่มเติม หลังธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณปรับลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งตลาดคาดว่าอาจส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มคุมเข้มนโยบายทางการเงินเร็วขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1666-704 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1690/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/8) ที่ระดับ 110.10/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/8) ที่ระดับ 109.64/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันพุธที่ผ่านมา (18/8) รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงขยายประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและอีก 5 จังหวัดไปจนถึงวันที่ 12 กันยายน

พร้อมทั้งประกาศขยายมาตรการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่เพิ่มอีก 7 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้มาตรการกึ่งฉุกเฉิน โดยทั้ง 7 จังหวัดจะเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินเต็มรูปแบบในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.50-110.22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.57/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ ประจำเดือนสิงหาคม (19/8), ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย ประจำเดือนสิงหาคม (19/8), ดัชนีชี้นำของสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (19/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่น ประจำเดือนกรกฎาคม (20/8), ดัชนียอดขายปลีกของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนกรกฎาคม (20/8) และดัชนีผู้ผลิตของเยอรมัน ประจำเดือนกรกฎาคม (20/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.90/1.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 1.80/3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ