ธุรกิจทวงหนี้โอดรัฐคุมค่าฟี ฉุดรายได้วูบหนักส่อปิดกิจการ-เลิกจ้าง

“ธุรกิจติดตามหนี้-จำนำทะเบียนรถ” โอดประกาศคุมค่าธรรมเนียมทวงหนี้กระทบรายได้หนัก แถมแบงก์ส่อเปลี่ยนนโยบายหันติดตามหนี้เองแทนจ้างเอาต์ซอร์ซ หวั่นหลายบริษัทต้องปิดกิจการ-เลิกจ้างพนักงาน เตรียมตบเท้าหารือเข้ามหาดไทยหาทางผ่อนปรน “เช่าซื้อ” ระบุสุดท้ายหากต้องขึ้นดอกเบี้ยอาจกระทบลูกค้าดีไปด้วย

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ได้ประกาศกำหนดอัตราการค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ กรณีลูกค้าค้าง 1 งวด สามารถเรียกเก็บไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ และไม่เกิน 100 บาท กรณีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด และค่าใช้จ่ายลงพื้นที่ไม่เกิน 400 บาท กรณีลูกค้ามีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวดนั้น

เบื้องต้นบริษัทอยู่ระหว่างประเมิน แต่ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ที่เคยได้รับจากการติดตามทวงถามหนี้ (collection fee) ที่มีสัดส่วนราว 2% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด โดยบริษัทต้องเปลี่ยนนโยบายการติดตามทวงถามหนี้ที่ปัจจุบันมีการจ้างพนักงานภายนอก (outsource agent : OA) มาเป็นดำเนินการเอง

“เราอาจจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์พฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกค้าและปรับวิธีการติดตามใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งมองว่าผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ไม่หลากหลายจะได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว จนอาจจะส่งผลให้ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป ซึ่งจะกระทบลูกค้าดีไปด้วย ทั้งนี้ สมาคมกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อนัดหารือกับกระทรวงมหาดไทย ในเร็ว ๆ นี้” นายปิยะศักดิ์กล่าว

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการตลาดและบริหารความสัมพันธ์สินเชื่อยานยนต์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แบงก์คงต้องกลับมาประเมินผลกระทบและต้นทุน ว่าจะจ้างบริษัทภายนอกติดตามทวงหนี้ หรือจะกลับมาบริหารเอง โดยขณะนี้แบงก์ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และตัวแทน OA อยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ของอัตราค่าว่าจ้าง ว่าควรจะอยู่ที่ระดับใดจึงเหมาะสม และสามารถอยู่รอดได้ทั้ง 2 ฝ่าย

“สุดท้ายหากแบงก์และผู้ประกอบการทำแล้วไม่คุ้ม อาจจะต้องเด้งผ่านต้นทุนไปยังดอกเบี้ยรถใหม่ที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ 1.99% ทำให้ต้นทุนไหลเพิ่มไปสู่คนที่จ่ายได้ เพื่อชดเชยให้กับคนที่จ่ายไม่ได้ เพราะเกณฑ์ใช้ไม้บรรทัดเดียวกับทุกคน” นายเตชินท์กล่าว

นางสาวอภิญญา จันทภาโส นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย กล่าวว่า สมาคมอยู่ระหว่างปรึกษากับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะค่าทวงถามที่ 50 บาท ตามประกาศ ถือว่าต่ำเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากมีต้นทุนคงที่ (fixed cost) เช่น ค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากไม่สามารถตกลงค่าจ้างในอัตราที่อยู่รอดได้ คงต้องบอกเลิกสัญญา ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงานและอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ ซึ่งก่อนหน้านี้ติดตามทวงถามหนี้ก็มีการปิดตัวลงไปจนเหลือเพียง 73 บริษัทแล้ว เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้งานลดลงจากระดับ 2,000-3,000 สัญญาต่อปี เหลือเพียง 40-50 สัญญา

“เราจะประชุมร่วมกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อ เพื่อเคาะราคากลางที่รับได้ทั้งคู่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าบริษัทว่าจ้างจะตัดสินใจทำเองหรือจ้างต่อ แต่หากราคาต่ำจนเราอยู่ไม่ได้ เราคงต้องบอกเลิกสัญญา และเลิกจ้างพนักงาน เพราะเราแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว เนื่องจากค่าจ้างขึ้นอยู่กับเคสที่เราติดตามได้ ซึ่งแบงก์ตั้งไว้สูง เช่น ค้างชำระ 3 งวด ต้องได้ 95%” นางสาวอภิญญากล่าว

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) กล่าวว่า บริษัทรอดูว่าสถาบันการเงินที่ส่งงานให้จะมีนโยบายอย่างไร จะดึงงานกลับหรือลดค่าว่าจ้าง ซึ่งหากไม่คุ้ม บริษัทอาจจะถอยออกมา แต่เชื่อว่าสถาบันการเงินจะต้องมีการปรับตัว โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชดเชยรายได้ดังกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตรับจ้างติดตามหนี้ราว 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 10% และอีก 90% จะเป็นการรับซื้อหนี้ ซึ่งหากผู้ว่าจ้างไม่ส่งงานจะกระทบรายได้ราว 10% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 200 ล้านบาท เฉลี่ยไตรมาสละ 40-50 ล้านบาท

“เรากระทบไม่มาก แต่คนส่งงานให้เราจะกระทบเยอะหน่อย ซึ่งต้องรอดูแบงก์จะตัดสินใจยังไง แต่ถ้าไม่ส่งงานให้ เราจะโยกทีมติดตามไปอยู่ฝ่ายซื้อหนี้แทน ส่วนผลต่อรายได้น่าจะกระทบราว 10% ไม่มาก เพราะจากมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้แบงก์ส่งงานติดตามหนี้ลดลงด้วย” นายสุทธิรักษ์กล่าว

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากประกาศค่าติดตามทวงถามหนี้ที่ออกมา กลุ่มธุรกิจจำนำทะเบียนรถน่าจะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจตามเก็บหนี้ที่ได้ผลกระทบทางอ้อม ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบน้อยมาก

โดยกลุ่มธุรกิจจำนำทะเบียนรถ มีอยู่ 2 บริษัทที่เห็นผลกระทบชัดเจน คือ 1.บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) ที่มีรายได้ส่วนนี้ราว 5% ของรายได้รวม ซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บค่าทวงหนี้ 99 บาท สำหรับค้างชำระงวดแรก และงวดที่ 2 เรียกเก็บ 199 บาท ส่วนงวดที่ 3 ลงพื้นที่เก็บตามจริง จึงประเมินผลกระทบต่อกำไรในกรอบ 4-5% ต่อปี

2.บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) มีรายได้ประมาณ 2-3% ของรายได้รวม ปัจจุบันเรียกเก็บค่าทวงหนี้ 100 บาท สำหรับค้างชำระงวดแรก และงวดที่ 2 เรียกเก็บ 200 บาท ประเมินผลกระทบต่อกำไรในกรอบ 3-4% ต่อปี ขณะที่ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ไม่มีผลกระทบ เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่เรียกเก็บ (wave) ลูกค้า มาตั้งแต่ปี 2563 ส่วน บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) รายได้ส่วนนี้ไม่มาก มีแค่ 0.2-0.3% ของรายได้รวมเท่านั้น

ขณะที่ธุรกิจตามเก็บหนี้มีผลกระทบทางอ้อมจากการรับจ้างทวงหนี้ให้ธนาคาร และผู้ประกอบการ เช่น ค่ายมือถือ เป็นต้น ต่อไปงานเหล่านี้จะลดลง เพราะแบงก์นำกลับไปทำเองมากขึ้น

“ภาพรวมธุรกิจตามเก็บหนี้ได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะงานนี้ไม่ใช่ธุรกิจหลักของทั้ง JMT และ บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) คิดเป็นแค่ราว 5% ของรายได้รวม ซึ่งผลกระทบมากสุดราว 1% ของกำไรต่อปี ส่วนกลุ่มแบงก์ เนื่องจากรายได้ส่วนงานนี้คิดเป็นแค่ 1-2% ของรายได้รวม ซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ในอัตราไม่เกิน 100 บาท ดังนั้นจะโดนผลกระทบแค่ค้างชำระ 1 งวด ที่รัฐสั่งไม่ให้เก็บเกิน 50 บาท ดังนั้น ผลกระทบแทบไม่มองเห็น” นายกรกชกล่าว