จับตาบาทอ่อนแตะ 34 บาท แบงก์ปรับเป้าค่าเงินใหม่

ค่าบาท

“ยอดติดเชื้อโควิดในประเทศพุ่ง-เฟดลดคิวอี” กดดันค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องลุ้นมีโอกาสแตะ 34 บาท ก่อนถึงสิ้นปี “กสิกรไทย-กรุงศรีฯ” ปรับคาดการณ์เงินบาทสิ้นปีอยู่ที่ 32.75 บาท อ่อนกว่าคาดไว้เดิม ฟาก “ttb” ชี้ล่าสุด ต้นปีถึงปัจจุบันบาทอ่อนแล้วกว่า 11% นำหน้าเพื่อนบ้าน ขณะที่เงินด่องเวียดนามนิ่ง

นางสาวพีรพรรณ สุวรรณรัตน์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยได้ปรับคาดการณ์เงินบาท ณ สิ้นปี 2564 เป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ โดยปรับมาที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากประมาณการเดิม ณ เดือน มิ.ย. 2564 คาดการณ์ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์

โดยช่วงที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วและมากกว่าที่ประมาณการไว้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเงินบาท ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากทั้งการบริโภคภาคเอกชนในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีนี้มีแนวโน้มขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเอกชนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ สัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เร็วขึ้น ยังสนับสนุนความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ด้วย

 

“ช่วงก่อนสิ้นปี เงินบาทจะยังอ่อนค่าต่อจนกว่าสถานการณ์โควิดจะค่อย ๆ คลี่คลาย เช่น จำนวนติดเชื้อผ่านจุดสูงสุด และมีจังหวะอ่อนค่าอีก หากเฟดประกาศลดขนาดคิวอี โดยมองว่าด่านแรกมีโอกาสอ่อนไปถึง 33.50 บาทแต่ถ้าต้านไม่อยู่ก็มีโอกาสแตะ 34 บาทจากนั้นเงินบาทจะค่อย ๆ กลับมาแข็งค่าขึ้น และมาอยู่ที่ 32.75 บาทตอนสิ้นปี” นางสาวพีรพรรณกล่าว

นางสาวพีรพรรณกล่าวอีกว่า เงินบาทที่อ่อนค่า แน่นอนว่าจะส่งผลดีกับผู้ส่งออกเพราะได้โอกาสขายดอลลาร์ได้จากการส่งออกมาซื้อบาท อย่างไรก็ดี จริง ๆ แล้วหากเงินบาทผันผวนมาก ก็ไม่ดีกับผู้ประกอบการ เพราะบริหารจัดการค่าเงินยากขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไปแล้ว 11.6% สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามไม่อ่อนค่าเลย ทั้งนี้ หากการระบาดของโควิดในประเทศยังรุนแรง ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 34 บาทในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดที่ก่อนโควิด ไทยเกินดุลกว่า 1 แสนล้านบาทต่อเดือน มาตอนนี้ขาดดุลเดือนละ 4-8 หมื่นล้านบาทด้วย

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรีฯได้ปรับกรอบคาดการณ์ค่าเงินบาทปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 32.75 บาท จากเดิม 31.75 บาท โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศเลวร้ายกว่าที่ประเมินไว้ และทิศทางเงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าในไตรมาส 4 ตามการเปิดเมือง และการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าแล้วกว่า 10% สะท้อนปัจจัยและตลาดรับรู้ไปพอสมควร ทั้งเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว และเงินทุนไหลออก รวมถึงโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยจุดกลับตัวของค่าเงินบาทจะอยู่ภายในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะมีความผันผวนค่อนข้างมาก ก่อนจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มนิ่ง ทำให้ค่าเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงไตรมาส 4

“เดิมเรามองเงินบาทจะกลับมาแข็งค่า ตั้งแต่ไตรมาส 3 แต่จากสถานการณ์โควิดในไตรมาส 2 เลวร้ายกว่าคาด ทำให้เราปรับคาดการณ์ใหม่ โดยให้น้ำหนักเรื่องโควิดในประเทศมากกว่าปัจจัยภายนอก ซึ่งคาดว่าไตรมาส 4 การฉีดวัคซีนและกระจายวัคซีนดีขึ้น น่าจะเปิดประเทศและคลายล็อกดาวน์ได้ ซึ่งเงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้” นางสาวรุ่งกล่าว

ขณะที่รายงานการประชุม กนง.รอบล่าสุดระบุว่า คณะกรรมการจะติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าอย่างต่อเนื่อง โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น และมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาคตามปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งผลักดันนโยบายการปรับ FX ecosystem อย่างต่อเนื่อง