คลังกู้ 3.5หมื่นล้าน หนุนรัฐเยียวยาล็อกดาวน์ 24 ส.ค.นี้

คลัง-พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน

สบน.จ่อกู้เงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้าน 24 ส.ค.นี้ รองรับการใช้จ่ายตามมาตรการเยียวยาผลกระทบ “ล็อกดาวน์” ที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ สบน.จะดำเนินการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท) จำนวน 35,376 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการกู้เงินด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาด
ของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม อายุเงินกู้ 3 ปี หลังจากก่อนหน้านี้เปิดให้มีการยื่นซองเสนออัตราผลตอบแทนตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา

“เป็นการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ใช้เงินผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา สบน.ได้ดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ไปก้อนแรกแล้ว 3 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในโครงการเยียวยาด้านการศึกษา บรรเทาภาระผู้ปกครอง และโครงการเยียวยาด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศล็อกดาวน์” นางแพตริเซียกล่าว

ปัจจุบันการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ได้มีการอนุมัติกรอบการใช้วงเงินกู้เงินแล้วกว่า 7.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา เพื่อบรรเทาภาระผู้ปกครอง 3.2 หมื่นล้านบาท มาตรการเยียวยาแรงงานในพื้นที่ล็อกดาวน์ 3 หมื่นล้านบาท และล่าสุด ครม.ได้อนุมัติวงเงิน 9,370 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์

ก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 3 โดยปรับแผนก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 150,000 ล้านบาท จากเดิม 1,647,131.74 ล้านบาท เป็น 1,797,131.74 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการที่จะใช้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจากการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว ประเมินว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 58.88% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ขณะที่หนี้สาธารณะล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 56.09%