พลิกมุมคิด “สาระ ล่ำซำ” ทรานส์ฟอร์มสู่เกมอินชัวร์เทค

ธุรกิจประกันถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกดิจิทัล แบงกิ้ง และหนีไม่พ้นกระแส Digital Disruption ที่ถาโถมใส่ ทำให้ผู้บริหารก็ต้องกลับมาปรับกระบวนทัพกันขนานใหญ่ ให้ล้อไปกับอีโคซิสเต็มที่เกิดขึ้นเวลานี้

“สาระ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Transformation : เกมแห่งอนาคต” ภายในงานสัมมนา “THAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” จัดโดย นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา เขาได้ฉายภาพการปรับกระบวนท่าของธุรกิจประกันชีวิตในระยะข้างหน้าว่า

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตเจอกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องดิจิทัล เพราะมีเครื่องมือผ่านทาง Internet of Things (IOT) ที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว สังคมสูงวัย สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อตัวธุรกิจนี้โดยตรง สะท้อนได้จากตัวเลขเบี้ยประกันชีวิตรับรวมตั้งแต่ปี 2555 จนถึงช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2560 พบว่า อุตสาหกรรมประกันชีวิตเคยมีเบี้ยเติบโตเป็น 2 หลัก (10% ขึ้นไป) มาโดยตลอด เริ่มปรับตัวลดลงถึงขนาดบางไตรมาสของบางปีก็ติดลบ

ดังนั้น บริษัทประกันภัยต้องปรับตัวกัน จากเดิมเคยคิดโปรดักต์ (แบบประกัน) ตัวหนึ่ง เพื่อตอบโจทย์คนหลายกลุ่ม (one for all) ปัจจุบันก็เป็น customer centric (ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง) แต่ก็ยังไม่พอ เพราะต้องคิดดีไซน์โปรดักต์ให้เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคลมากขึ้น (one to one) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว คนมีครอบครัว เป็นต้น

“เนื่องจากเทรนด์ของดิจิทัลเข้ามา ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้น ทำให้วงการประกันชีวิตต้องตื่นตัว จะเห็นว่าตอนนี้นวัตกรรมไม่ได้ถูกจำกัดแค่ FinTech BioTech หรือ HealthTech เท่านั้น แต่ยังมี InsurTech ที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นเราไม่สามารถที่จะเติบโตในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป ขณะที่ข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้า (ดาต้า) จะกลายเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เห็นช่องโหว่ในการส่งโปรดักต์เข้าไปตอบสนองความต้องการอย่างตรงจุดมากที่สุด”

“สาระ” บอกว่า ในส่วนของเมืองไทยประกันชีวิต ได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม Fuchsia Innovation Centre ขึ้นมาในปีนี้ เพื่อเรียนรู้จากมุมมองผู้บริโภค (outside in) เรียนรู้สิ่งใหม่ทั้งที่เป็นเทคโนโลยี และไม่เป็นเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาให้ได้โปรดักต์ (แบบประกัน) ใหม่ ๆ ที่จะคุ้มครองสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็น?การตอบโจทย์ลูกค้าเจาะจงมากที่สุด

และอีกส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง คือ การสร้างวัฒนธรรม?องค์กร ซึ่งจะต้องสร้าง mindset ให้แก่บุคลากรทุกคน ช่วยกันคิดและพัฒนาองค์กรให้เกิดนวัตกรรม?ใหม่ ๆ โดยมี fuchsia เป็นตัวกลางเชื่อมทุกหน่วยเข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงสู่พาร์ตเนอร์ (พันธมิตร) ต่าง ๆ ภายนอกองค์กรที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งข้อมูล เช่น มหาวิทยาลัย สตาร์ตอัพ บริษัทร่วมทุน ฯลฯ โดยเทคโนโลยีที่กำลังศึกษา เช่น AI, ?machine learning,blockchain เรื่องของ KYC เป็นต้น

“ปัจจุบัน fuchsia ได้ร่วมมือกับสตาร์ตอัพในฮ่องกงทดสอบนวัตกรรมด้านการป้องกันและการดูแลสุขภาพผ่านโครงการ “myTHAIDNA” ให้กับลูกค้าเมืองไทยประกันชีวิต ด้วยบริการตรวจ DNA จากน้ำลายบริเวณกระพุ้งแก้มส่งตัวอย่างกลับไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการฮ่องกงเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ และโครงการ Health at Home ร่วมมือกับสตาร์ตอัพไทยเป็นธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่บ้านในแบบ home care ด้วยระบบ real-time analytics เพื่อช่วยให้ครอบครัวของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุสามารถติดตามการดูแลรักษาได้ตลอดเวลา รวมถึงแอปพลิเคชั่น GetGo เป็นเครื่องมือที่เอื้อให้กับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการซื้อประกันผ่านช่องทางตัวแทนหรือแบงก์แอสชัวรันซ์ โดยไม่แคร์ว่าต้องซื้อกับเมืองไทยประกันชีวิต”

สาระทิ้งท้ายด้วยว่า ในอนาคตประกันชีวิตจะเป็นแบบ “dynamic pricing” เมื่อไรก็ตามที่เรายิ่งดูแลตัวเอง เราจะจ่ายเบี้ยประกันถูกลง ในขณะเดียวกันเมื่อไรก็ตามที่ “เราไม่ดูแลตัวเอง”


เบี้ยประกันก็จะแพงขึ้น เพราะฉะนั้นแนวโน้มของแบบประกันจะเป็น one to one มากขึ้น แต่การที่จะทำได้จะต้องมีการบริหารจัดการในเชิงข้อมูลที่ดี ซึ่งตอนนี้บางโครงการของบริษัทกำลังทดสอบอยู่ใน regulatory sandbox ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)