บัวหลวง กาง 4 ปัจจัยก่อนลงทุน ‘ตลาดทุน-ตลาดเงิน’ ในสหรัฐ

กองทุนบัวหลวง

กองทุนบัวหลวง วิเคราะห์ 4 ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในสหรัฐฯ ที่นักลงทุนควรติดตาม “นโยบายการเงิน-เงินเฟ้อ-การจ้างงาน-นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ” เชื่อมั่นสหรัฐยังเป็นขุมทรัพย์การลงทุนขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน

วันที่ 22 สิงหาคม 2564 ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน

ทั้งยังมีหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่นักลงทุนรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันดีอยู่มากมาย เช่น Facebook, Google หรือ Amazon ดังนั้น จึงถือเป็นขุมทรัพย์การลงทุนขนาดใหญ่ ที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในสหรัฐฯ ที่นักลงทุนควรติดตาม อยู่ 4 เรื่อง ได้แก่

1. เรื่องของนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่นักลงทุนต้องจับตาว่า เฟดจะมีทิศทางอย่างไร เฟดมองตัวแปรไหนเป็นตัวชี้วัดประเมินผลงาน (KPI) โดยช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า การอัดสภาพคล่องซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงิน เป็นเหตุผลทำให้สภาพคล่องล้นตลาดจนเข้าสู่ตลาดทุน และทำให้ตลาดทุนเดินตามเกมนโยบายการเงินของเฟดอยู่ตลอด

2.ประเด็นอัตราเงินเฟ้อ เรื่องนี้ก็สืบเนื่องมาจากนโยบายการเงินของเฟดนั่นเอง เพราะ KPI อย่างหนึ่งของเฟด คือ เงินเฟ้อ ซึ่งเฟดอยากเห็นเงินเฟ้อที่ 2% แต่เวลานี้ ถ้าดูตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือนที่ออกมา แล้วคูณไป 12 เดือน จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อเกินกว่า 2% ไปมากแล้ว

อย่างไรก็ดี เฟดเคยออกมาบอกว่า จะยอมให้เงินเฟ้อเกิน 2% ได้ เพราะเข้าใจได้กับช่วงเวลานี้ที่ความต้องการสินค้าล้นตลาด เพราะอั้นไว้นานในช่วงที่ล็อคดาวน์จากโควิด-19 ดังนั้นก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า ถ้าเงินเฟ้อกลับมาสู่ระดับปกติ คือ ปรับขึ้นเดือนละ 0.2-0.3% แล้ว เฟดอาจกลับมาสนใจตัวชี้วัดนี้อีกครั้ง

3.การจ้างงาน เนื่องจากการจ้างงานเป็นเครื่องชี้วัดทาวเศรษฐกิจตัวท้ายสุดที่จะปรับขึ้น ซึ่งปกติแล้ว นโยบายการเงินที่ดีจะต้องรอให้เครื่องชี้เศรษฐกิจขยายตัวให้ครบก่อน จึงจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น เฟดเองก็น่าจะรอดูการจ้างงานก่อน หากดีขึ้นแล้ว จึงพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ

โดยเมื่อไม่นานมานี้ มีการประกาศการจ้างงานนอกภาคเกษตรรอบล่าสุด เกิดการจ้างงานกว่า 9 แสนตำแหน่ง ทำให้ตำแหน่งที่ยังขาดคนลดลงไปเรื่อยๆ ในช่วงเกิดโควิดนั้น ตำแหน่งงานหายไปกว่า 20 ล้านตำแหน่ง ในช่วงเวลานี้ตำแหน่งงานถูกเติมเต็มเพิ่มมากว่า 5 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้หากคำนวณต่อไปในระยะข้างหน้า ถ้าจำนวนตำแหน่งงานเพิ่มในระดับ 8-9 แสนตำแหน่งต่อเดือน การจ้างงานก็น่าจะกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดในอีก 8-10 เดือนข้างหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องมาจับตาดูว่า เฟดจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินหรือไม่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565

รวมถึงประเด็นการลดหรือชะลอซื้อสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่เรียกว่าทำ taper นั้น ไม่อยากให้นักลงทุนไปกังวลกับประเด็นนี้มากนัก เพราะกว่าที่จะเห็นการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ เฟดจะต้องแน่ใจก่อนว่า สถาบันการเงินที่นำสินทรัพย์มาขายให้จะอยู่ได้ และคงต้องเห็นอัตราดอกเบี้ยไต่ขึ้นไปช่วงหนึ่งก่อนจึงจะเห็นการลดซื้อสินทรัพย์เกิดขึ้น

4. การผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาคองเกรส เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่การเมืองเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในโลก จึงต้องมีการลงคะแนนเสียงและต่อรองกันในสภา ซึ่งโดยปกติแล้ว ประธานาธิบดีไม่ใช่คนที่มีความสำคัญมากที่สุดในสภาคองเกรส แต่เป็น ประธานสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ซึ่งก็คือ ชัค ชูมเมอร์ กับแนนซี่ เพโลซี เวลาจะผลักดันนโยบายอะไรให้ผ่านสภาคองเกรส ต้องผ่านทั้ง สส. และ สว. ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้ เสียงส่วนมากต้องเป็นเดโมแครตชนะ

หากมองย้อนไปในครั้งที่ บารัค โอบามา ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี ได้มีการผลักดันนโยบายด้านสุขภาพ Obama care สำเร็จ แต่ในรอบสุดท้ายของสภา คือ ช่วงเทอมที่ 2 โอบามา เป็นประธานาธิบดีเสียงข้างน้อย ไม่สามารถผลักดันนโยบายอะไรได้เลย เมื่อนำมาเทียบกับไบเดนในรอบนี้ ในช่วง 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง 2 ปีแรก ซึ่งเป็นเทอมแรก ต้องติดตามไบเดนจะทำอย่างไรก็ได้ให้ผลักดันนโยบายการคลังออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะตอนนี้ยังครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภาอยู่

ซึ่งปัจจุบันนโยบายที่ผลักดันสำเร็จมีอย่างเดียว คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องโควิด มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน Build Back Better แผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน แต่นโยบายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันทางอุตสาหกรรม เน้นหนักที่กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และกฎหมายลูกเกี่ยวกับชิปยังค้างอยู่ในสภา ยังผลักดันไม่สำเร็จ หากนโยบายนี้ผลักดันสำเร็จจะมีมูลค่าหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ และยานยนต์ได้อานิสงส์

นอกจากนี้ ใน Build Back Better ยังมีอีก 2 เรื่องที่ยังไม่ได้ผลักดันให้สำเร็จ คือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานและพ.ร.บ. ว่าด้วยเรื่องครอบครัวสหรัฐฯ ที่มีเรื่องให้การศึกษาเด็ก ซึ่งถ้าผลักดันได้ ก็จะทำให้มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มก่อสร้าง เป็นต้น

” ทั้งนี้ แนะนำว่า ถ้าตัดเรื่องทิศทางนโยบายการเงินออกไป แล้วดูผลตอบแทนที่หุ้นสหรัฐฯ ทำได้ต่อปี จากข้อมูลในอดีต พบว่า มีน้อยปีมากๆ ที่ผลตอบแทนจากหุ้นสหรัฐฯ ติดลบ ภาพรวมส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่ดีหลายปีติดต่อกัน ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เชื่อว่าผู้จัดการกองทุนสามารถหากลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นั้นๆ ได้” ดร.มิ่งขวัญ กล่าว