ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาเฟดส่งสัญญาณลด QE

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาเฟดส่งสัญญาณลด QE พาณิชย์เผยการส่งออกไทยยังขยายตัวดี ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/8) ที่ระดับ 33.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/8) ที่ระดับ 33.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรหลังปรับตัวขึ้น 4 วันติดต่อกันในสัปดาห์ที่แล้ว โดยก่อนหน้านี้นักลงทุนได้เข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมทั้งความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศอัฟกานิสถาน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่นักลงทุนยังจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมดังกล่าว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคม โดยการส่งออกมีมูลค่า 22,650 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยการส่งออกของไทยยัคงขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทโธปกรณ์ การส่งออกเดือนกรกฎาคมจะขยายตัวได้ 25.38% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,467 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 45.94% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 18.3 ล้านดอลลาร์

สำหรับภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม 2564) การส่งออกมีมูลค่า 154,985 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.20% การนำเข้ามีมูลค่า 152,362 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 28.73% ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 2,622 ล้านดอลลาร์

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า อยู่ในกรอบระหว่าง 33.27-33.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (23/8) ที่ระดับ 1.1702/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/8) ที่ระดับ 1.1693/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างวันมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการเดือนสิงหาคมของเยอรมนีอยู่ที่ระดับ 61.5 มากกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 61.0 ในขณะที่ภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 62.7 น้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 65.0

นอกจากนั้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการเดือนสิงหาคมของยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 59.7 น้อยกว่าคาดการณ์เล็กน้อยที่ระดับ 59.8 ในขณะที่ภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 61.5 น้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 62.0 ทั้งนี้ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50.0 บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอยู่

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1693-1.1733 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1724/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/8) ที่ระดับ 109.85/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/8) ที่ระดับ 109.71/72 เยน/ดอลลาร์ โดยในระหว่างวันญี่ปุ่นมีการเปิดเผยบัญชีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ที่ระดับ 52.4 ในเดือนสิงหาคม น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0

อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตยังคงอยู่เหนือระดับ 50.0 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวด้านสถานการณ์โควิด-19 ญี่ปุ่นมีการประกาศภาวะฉุกเฉินจากโควิด-19 ในอีก 7 จังหวัด มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาและจะมีผลไปจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2564

ภายใต้มาตรการดังกล่าว ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า จะต้องจำกัดจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการในเวลาเดียวกัน รวมทั้งร้านอาหารที่ถูกห้ามไม่ให้เสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือให้บริการคาราโอเกะ และต้องปิดให้บริการภายใน 20.00 น.

นายกรัฐมนตรีโอชิฮิเดะ ซูงะ ยังเรียกร้องให้ประชาชนงดของการออกไปในที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านลงจากระดับปกติ 50% และขอให้บริษัทต่าง ๆ อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดจำนวนผู้สัญจรไปมาให้ได้ประมาณ 70% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.72-110.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (23/8), ยอดขายบ้านมือสองเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (23/8), GDP ไตรมาส 2/2564 ของเยอรมนี (24/8), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (24/8), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (25/8),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/8), GDP ไตรมาส 2/2564 ของเยอรมนี (24/8), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (24/8), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (25/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/8), GDP ไตรมาส 2/2564 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหรัฐ (26/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.40/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ +2.30/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ