“เช่าซื้อ” ถกสรรพากร ขอเว้นภาษีพักหนี้ลูกค้าเหมือนแบงก์

สรรพากร

ธุรกิจ “เช่าซื้อ” ถกสรรพากรขอยกเว้นภาษีกรณี “พักชำระ-ปรับโครงสร้างหนี้” ช่วยลูกค้าอ่วมโควิด เผยปัจจุบันไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนแบงก์ ต้องแบกภาระจ่ายภาษี VAT แทนลูกค้าหลังแอ่น

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมธุรกิจเช่าซื้ออยู่ระหว่างหารือกับกรมสรรพากรขอให้พิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการดำเนินมาตรการพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้เช่นเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้รับ เนื่องจากตอนที่มีการออกกฎหมายให้สิทธิประโยชน์ภาษีในเรื่องนี้ยังไม่ได้รวมถึงธุรกิจเช่าซื้อ

“ปัจจุบันเช่าซื้อจะไม่ได้รับประโยชน์ทางภาษีเหมือนแบงก์ โดยถ้าเป็นแบงก์กรณีปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า เช่น เดิมลูกค้าผ่อนชำระ 1.2 หมื่นบาท ปัจจุบันผ่อนได้ 8,000 บาท ส่วนที่เหลือ 4,000 บาทที่หายไปเป็นการด้อยค่าของสัญญา ซึ่งในแง่แบงก์จะถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี แต่ในส่วนของผู้ประกอบการเช่าซื้อจะบันทึกไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการเช่าซื้อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจะมีมาตรฐานทางบัญชีแตกต่างไปจากเช่าซื้อของแบงก์ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ก็จะมีชุดมาตรฐานทางบัญชีแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายมีการบริหารบัญชีที่ค่อนข้างเข้มงวดสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร

นายบุญหนา จงถิ่นสุวรรณ ผู้จัดการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อมีความกังวล จะเป็นประเด็นเรื่องของการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ 3 เดือนจะเว้นวรรคการชำระหนี้ แต่การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ถูกกำหนดให้เลื่อนออกไปเหมือนในกรณีเกิดน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา

“สรรพากรบอกว่า ให้ใช้เหมือนตอนน้ำท่วมได้ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการก็ยังกังวลว่ามีโอกาสที่ผู้ตรวจสอบจะตีความผลกระทบจากโควิดและน้ำท่วมแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องชำระเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทันที ตลอดจนดอกเบี้ยของเงินที่ถูกพักชำระหนี้ รวมถึงโดนค่าปรับภาษี ทำให้ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ต้องส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแทนลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ทั้งหมด” นายบุญหนากล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าได้ก็ต้องหลังลูกค้ากลับมาผ่อนชำระได้ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่ยังสามารถจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มได้แต่จ่ายในจำนวนที่น้อยลงตามภาระค่างวดที่ถูกยืดออกไป ส่วนกลุ่มพักชำระหนี้บริษัทจะต้องออกให้ลูกค้าทั้งหมด

“ตอนนี้ไฟแนนซ์ต้องจ่าย VAT แทนลูกค้าที่พักหนี้ 3 เดือน เพราะกังวลเรื่องการตรวจสอบของกรมสรรพากร หากมีการตีความออกมาไม่เหมือนกัน แม้ว่าสรรพากรจะบอกให้เราสามารถใช้เกณฑ์เดียวกับช่วงน้ำท่วม แต่ทุกคนไม่กล้าเลื่อนจึงจ่ายแทนลูกค้า และไม่รู้ว่าจะสามารถตามเก็บได้หรือไม่ ถือว่าเป็นภาระค่อนข้างก้อนใหญ่ เพราะปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้าโครงการอยู่ 6.5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 30% ปรับโครงสร้างหนี้ และอีก 70% พักชำระหนี้”