ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวลง

Baht-ดอลลาร์-1

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จากตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวลง ขณะที่ปัจจัยในประเทศ เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/8) ที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (23/8) ที่ระดับ 33.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากเมื่อคืนนี้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ รวมภาคการผลิตและภาคบริกากรเบื้องต้นของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 55.4 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว จากระดับ 59.9 ในเดือนกรกฎาคม

เมื่อแยกเป็นภาคส่วนพบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตขั้นต้น ลดลงสู่ระดับ 61.2 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 63.4 ในเดือนกรกฎาคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 62.5 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นต้น ลดลงสู่ระดับ 55.2 ในเดือน สิงหาคม จากระดับ 59.9 ในเดือนกรกฎาคม และต่ำกว่าที่วิเคราะห์คาดไว้ที่ 59.5

โดยการขยายตัวของกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐ ชะลอลงในเดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากผลกระทบจากภาวะขาดแคลนอุปทาน และการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งทำให้นักลงทุนลดการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ

ทางด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองฟื้นตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม หรือปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 2% สู่ระดับ 5.99 ล้านยูนิต ซึ่งอยู่เหนือระดับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 5.83 ล้านยูนิต

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ โดยทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในการประชุมดังกล่าว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากหลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง โดยในวันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,165 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,083,951 ราย

นอกจากนี้ทางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 10% เหลือ 7% ต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564-30 กันยายน พ.ศ. 2566 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 พร้อมขยายเวลายื่นแบบภาษี งด/ลดเบี้ยปรับกรณียื่นช้า

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า อยู่ในกรอบระหว่าง 32.95-33.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (24/8) ที่ระดับ 1.1738/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (23/8) ที่ระดับ 1.1724/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีจีดีพีของเยอรมนีในไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 1.5% และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ -1.8% ได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายภาครัฐ หลังรัฐบาลเยอรมนีผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมโควิด-19

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1728-1.1749 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1730/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/8) ที่ระดับ 109.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (23/8) ที่ระดับ 110.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขานรับมาตรการรับมือโรคโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดสถานที่ให้บริการออกซิเจนแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง โดยเริ่มให้บริการแล้ววันนี้ในกรุงโตเกียว เพื่อบรรเทาภาระของระบบการแพทย์ในกรุงโตเกียว หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น

โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลกลางมีแผนจะเพิ่มเตียงในสถานีออกซิเจนอีก 110 เตียงในโรงพยาบาลที่รัฐบาลเป็นผู้บริหารภายในสิ้นเดือนนี้

สำหรับตัวเลขทางศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีราคผู้บริโภคพื้นฐาน ธนาคารกลางญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% มากกว่าในครั้งก่อนที่ 0.1% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.64-109.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (24/8), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (25/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/8), GDP ไตรมาส 2/2564 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหรัฐ (26/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swp point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.40/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.30/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ