ธปท.เสริมมาตรการอุ้มลูกหนี้ หนุน “แฮร์คัต“ ปรับสูตรสกัดเอ็นพีแอล

เงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ควรทำอย่างไร
แฟ้มภาพ

สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด แสดงความกังวลเสถียรภาพระบบการเงินที่มีแนวโน้มเปราะบางขึ้น เนื่องจากการระบาดระลอกล่าสุดซ้ำเติมให้รายได้และฐานะทางการเงินของลูกหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เปราะบางอยู่เดิมให้แย่ลง

ส่งผลให้จำนวนลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ (debt at risk) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงได้เห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกมาอีกหลายมาตรการ โดยส่งสัญญาณว่าต้องการเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ระยะยาวมากขึ้น

รวมถึงอยากให้แบงก์พิจารณา “แฮร์คัตหนี้” ให้กับลูกหนี้ด้วย กระทั่งทางสมาคมธนาคารไทยได้มีการส่งหนังสือปิดผนึกถึง ธปท.เพื่อให้พิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ

เคลียร์ปม “แฮร์คัตหนี้” เฉพาะราย

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวว่า การส่งหนังสือปิดผนึกของทางสมาคมธนาคารไทย เนื่องจากสมาคมกังวลว่าอาจเกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (moral hazard)

อย่างไรก็ดี ธปท.ยืนยันว่าไม่ได้มีการบังคับให้แบงก์ต้องแฮร์คัตให้ลูกหนี้ทุกราย แต่อยากให้เห็นการปรับโครงสร้างระยะยาว โดยเน้นการผ่อนชำระตามกระแสรายได้ของลูกหนี้

เช่น ช่วงแรกอาจจะชำระในอัตราที่ต่ำ และทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันได (step up) โดยไม่ได้เน้นการเลื่อนชำระหนี้หรือพักหนี้ระยะสั้นเท่านั้น

“จดหมายดังกล่าวอาจจะเป็นการเข้าใจผิด โดยสมาคมอาจจะตกใจกับคำว่า แฮร์คัต ซึ่งทาง ธปท.ได้มีการพูดคุยกับสมาคมเรียบร้อยแล้ว โดยการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้หลายวิธี ซึ่ง ธปท.ไม่สามารถบอกหรือสั่งแบงก์ได้ในเรื่องของการแฮร์คัต

เพราะจะเป็นการเจรจาระหว่างลูกหนี้และธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่การช่วยเหลือต้องเลือกสูตรให้ตรงกับลูกหนี้ เพราะถ้าทำไม่ระมัดระวังอาจจะเกิด loss ตามมา”

หวั่นเอ็นพีแอลระลอกใหม่

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ในไตรมาส 2 ปี 2564 คุณภาพสินเชื่อของระบบแบงก์ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.45 แสนล้านบาท

สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมยังทรงตัวที่ 3.09% ทั้งนี้ เอ็นพีแอลสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจัดการชั้นเสื่อมคุณภาพหนี้ และมาตรการช่วยเหลือของธนาคาร

“ยอดคงค้าง NPL ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ฐานสินเชื่อรวมยังขยายตัวส่งผลให้ NPL ratio ทรงตัวภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นที่ช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพลง

โดยทิศทางข้างหน้าคงไม่เกิดหน้าผาเอ็นพีแอล (NPL cliff) หรือการพุ่งเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลอย่างรวดเร็ว แต่จะเห็นการเสื่อมค่าของคุณภาพสินเชื่อทยอยไหลขึ้น”

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.34% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.42%

ธปท.ซัพพอร์ตแบงก์อุ้มลูกหนี้

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ในระยะข้างหน้าเพื่อให้ธนาคารมีเสบียงที่จำกัดให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ ธปท.จึงมีการปรับเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีกำลังไปช่วยเหลือลูกหนี้ต่อได้

รวมถึงการเพิ่มเครื่องมือจูงใจตามข้อเรียกร้องในการเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อยู่ที่ 0.23% ไปอีกปี

“แนวโน้มลูกหนี้ที่เข้าโครงการความช่วยเหลือที่ทยอยลดลงก่อนหน้านี้ แต่หลังจากการระบาดระลอก 3 ลูกหนี้ทยอยเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.และน่าจะทยอยเพิ่มขึ้นอีก โดยในเดือน มิ.ย.มีลูกค้าอยู่ในโครงการช่วยเหลือ 5 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ 3.28 ล้านล้านบาท” นางสาวสุวรรณีกล่าว

ฐานะแบงก์แกร่งรองรับวิกฤต

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ฐานะธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบตอนนี้ยังคงมีความเข้มแข็ง โดยมีการตั้งสำรองส่วนเกินกว่า 2 แสนล้านบาทในภาพรวม ซึ่งกันชน (buffer) ที่มีอยู่เพียงพอและพร้อมเป็นกลไกการช่วยเหลือลูกหนี้

ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่สูงถึง 20.0% หรือ 3.038 ล้านล้านบาท ด้านสภาพคล่องยังคงเพียงพอ โดย liquidity coverage ratio หรือ LCR อยู่ที่ 186.7% ด้านอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 152.2% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2

“กสิกร” ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังเป็นประเด็นที่น่ากังวล แม้ว่าไม่มีปัญหาโควิด-19 เกิดขึ้น จะเห็นว่าความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือน ก็ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

และยิ่งมาเจอปัญหาโควิด-19 ยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้ จึงเกิดเป็นวังวนการชำระหนี้ที่เปราะบางมากยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในปีนี้มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ให้ไว้ในกรอบ 90-92% ต่อจีดีพี เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น

โดยไตรมาส 2/2564 ตัวเลขหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่อยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท และสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/2564 แบ่งเป็นหนี้ที่อยู่กับแบงก์พาณิชย์ 42.9% สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) 28.3% สหกรณ์ 15.0% บริษัทบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลและเช่าซื้ออีก 10.4% และอื่น ๆ ที่เหลือ

แบงก์ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลจะทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่ผ่อนปรนของ ธปท.เพื่อให้สถาบันการเงินมีเวลาบริหารจัดการปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ แต่แบงก์ยังคงต้องให้ความสำคัญและดูแลลูกค้าต่อเนื่อง โดยการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ากรอบหนี้เอ็นพีแอลทั้งปีอยู่ที่ 3.2-3.5% หรือยอดเอ็นพีแอลคงค้างกว่า 5.8 แสนล้านบาท

“เรามองสิ้นปีนี้เอ็นพีแอลน่าจะอยู่ที่ 3.3% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 3.09% หรืออาจจะต่ำกว่านี้เนื่องจากมีเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธปท.ที่ขยายไปถึงสิ้นปีหน้า จากเดิมครอบคลุมแค่ปีนี้ทำให้การขยับเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลคงไม่มาก” นางสาวกาญจนากล่าว

คงต้องติดตามว่ามาตรการที่ ธปท.พยายามสนับสนุนแบงก์ให้ช่วยกันสกัดไม่ให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ที่สุดแล้วจะยื้อได้แค่ไหนต่อไป