สภาพัฒน์ เผยไตรมาส 2 ว่างงาน 7.3 แสนคน ชี้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจบใหม่กลุ่ม “อุดมศึกษา-อาชีวะ” 2.9 แสนคน เร่งออกมาตรการรักษาจ้างงานเพิ่ม คาดไตรมาส 3 ผู้เสมือนว่างงานสูงขึ้น
วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ของปี 2564 มีอัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.96% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ซึ่งเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะต้องจับตาดูในช่วงนี้คือสิ่งที่ผู้ว่างงานโดยไม่เคยทำงานมาก่อน หรือผู้ที่จบการศึกษาใหม่ที่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10% ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 2.9 แสนคน โดยแนวโน้มผู้ที่จบการศึกษาจากอุดมศึกษา และอาชีวะศึกษา มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด โดยมีผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน กว่า 20.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมีอยู่ 11.7%
“ประเด็นที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด คือเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากากรแพร่ระบาดโควิด และมาตรการที่เราใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งกระทบต่อเนื่องไปที่รายได้ของแรงงาน ฉะนั้น ช่วงถัดไปจะต้องมีการดูแลผู้ประกอบการให้สามารถรักษาการจ้างงานให้ได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะออกมาในระยะถัดไป เพราะขณะนี้ข้อมูลยอดบัญชีคงค้างต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ก็ลดลงต่อเนื่อง
แสดงให้เห็นว่ามีการนำเงินเก็บออกมาใช้ และจะต้องมีการดูแลแรงงานที่มีการปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาใหม่ จะต้องมีมาตรการออกมาในการจ้างงานระยะสั้น เช่น การฝึกอบรม ทำให้สามารถหารายได้ในช่วงที่รอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือการจ้างงานด้วยการจ่ายเงินคนละครึ่งจะออกมาเมื่อไหร่นั้น ขณะนี้สภาพัฒน์กำลังทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาก็มีโครงการของรัฐที่ออกไปช่วยการจ้างงานอยู่หลายโครงการ จะต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าหลาย ๆ โครงการที่มีการจ้างงานไปแล้วในสถานการณ์เหล่านี้จะต้องมีการต่ออายุโครงการเหล่านั้น เพื่อเร่งคงระดับการจ้างงานไว้ ขณะเดียวกันมาตรการอื่น ๆ ที่จะออกมาขอให้รอติดตาม ซึ่งกำลังจะเร่งเสนอมาตรการอยู่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการรักษาระดับการจ้างงานได้เช่นกัน
ส่วนการจ้างงานในไตรมาส 2 ของปีนี้ปรับตัวดีขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมปรับเพิ่มขึ้น 2.4% เนื่องจากแรงงานที่กลับภูมิลำเนาแล้วเข้าสู่ภาคการเกษตร ขณะที่แรงงานนอกภาคการเกษตร ปรับเพิ่มขึ้น 1.8%
ส่วนสาขาการจ้างงานที่มีการปรับลดลง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ส่วนชั่วโมงการทำงานปรับดีขึ้นจากปีที่แล้ว เฉลี่ย 41.6% เพิ่มขึ้น 8.8% และจำนวนผู้ทำงานที่ทำงานล่วงเวลา มีกว่า 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.5 ล้านคน โดยชั่วโมงการทำงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในส่วนของภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์เคมี ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ มองว่ามาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบแน่นอนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะเป็นผู้ว่างงานหรือไม่นั้น ขณะนี้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็พยายามที่จะคงการจ้างงานเอาไว้เหมือนกัน แต่อาจจะมีการลดค่าจ้าง และอาจจะมีผู้ที่เป็นลักษณะเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3
ส่วนแนวโน้มการว่างงานในไตรมาส 3 นั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะในช่วงวิกฤตที่ผ่านมามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดพื้นที่ 29 จังหวัด และรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาระยะสั้นก่อนแล้ว ฉะนั้น การจ้างงานจะต้องมาพิจารณาข้อมูลอีกครั้ง ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าแนวโน้มจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นหรือไม่
“เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง แต่ยังมีบางสาขาที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ส่วนภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ฉะนั้น ในส่วนของผู้เสมือนการว่างงานจะยังต้องมีการเฝ้าระวังจากสถานการณ์ของสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่มีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อดูผู้ที่เป็นลักษณะเสมือนว่างงานว่าเราคงต้องมีอะไรออกมาช่วยด้วย”