“กรุงศรี” ประเมินท่องเที่ยวไม่ฟื้นอีก 5 ปี แนะ 4 แนวทางปรับตัวหลังโควิด

ถอดบทเรียนโควิด “กรุงศรี” ชี้ธุรกิจท่องเที่ยวกระทบหนัก ใช้เวลาฟื้นตัว 5 ปี แนะนำ 4 แนวทางปรับตัวหลังโควิด ขณะที่ สศค. คาดเปิดประเทศต้นปีหน้า ตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 2565 โต 4-5% ยันหน้าตักเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทรับมือโควิด-กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงพอ

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ตลาดหลักทรัพย์แหงประเทศไทย จัดงานสัมมนา “Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal” โดย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวในหัวข้อ “วิถีดำรงชีพยุคใหม่ : ถอดบทเรียนโควิด-19 สู่ทิศทางแห่งอนาคต” ว่า ประเทศไทยได้รับผลสะเทือนจากโควิด-19 อย่างมาก  แต่ภาคธุรกิจต่าง ๆ นั้นได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน 

โดยมาตรการเพื่อควบคุมโควิดนั้น เริ่มจากการปิดการท่องเที่ยว ตามมาด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้ต้องปิดโรงงาน และเมื่อนานไป ก็ส่งผลต่อความต้องการสินค้า รวมทั้งความสามารถในการผลิตด้วย และส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังการบริโภคของประชาชน 

ทั้งนี้ ทีมวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้คำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เอาไว้ รวมทั้งการฟื้นตัวด้วย  โดยได้พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดนั้น มีรายได้ลดลงระหว่าง  30-50%  ซึ่งก็คือ อุตสาหกรรมการบิน โรงแรม ร้านอาหาร อุตสาหกรรมสันทนาการและภาคบริการ  ส่วนกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งที่ได้รับผลกระทบน้อยก็อย่างเช่น อาหาร โทรคมนาคม เป็นต้น

“เมื่อกล่าวถึงการฟื้นตัว  ภาคที่ได้รับผลกระทบมากก็ย่อมฟื้นตัวช้า อย่างอุตสาหกรรมการบิน ท่องเที่ยวจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงปลายปี ไปจนถึงต้นปีหน้า แต่อาจจะต้อง ใช้เวลาถึง  4-5 ปี ที่การท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม” ดร.สมประวิณกล่าว

ทั้งนี้ กรุงศรีได้จัดแบ่งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็น 4 ระยะด้วยกัน คือ 1.ระยะสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวและกิจการภายในประเทศ 2.กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย 3.ทำข้อตกลงพิเศษ หรือที่เรียกว่า Bubble Tourism กับประเทศอื่น ๆ และ 4.เฟสสุดท้ายก็คือกลับไปสู่ภาวะปกติ 

ดร.สมประวิณกล่าวด้วยว่า เมื่อต้นปีมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนจากระยะ 2 เข้าสู่ระยะที่ 3 แต่การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้เรากลับไปสู่ระยะ 1 ทันที อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าการที่ประเทศไทยมีวัคซีนเพิ่มขึ้น จะทำให้สถานการณ์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว 

อย่างไรก็ตาม  อุตสาหกรรมของไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลังโควิดให้ได้ 

โดยได้แบ่งการเปลี่ยนแปลงเป็น 4 ด้านด้วยกัน คือ 1.เนื่องจากสังคมในอนาคต คนมีอายุยืนขึ้น  ดังนั้นจะมีคนหลายรุ่นอยู่ในสังคม ซึ่งแต่ละวัยนั้นมีความต้องการของตัวเอง ดังนั้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวและทำแผนให้ครอบคลุมความต้องการของคนรุ่นต่าง ๆ 

2.คนจะมีความต้องการการท่องเที่ยว และประสบการณ์ที่หลากหลายเฉพาะตัวมากขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ดังนั้นทำแผนการตลาดก็ควรจะเข้าถึงความต้องการของคนกลุ่มนื้

3.เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจการท่องเที่ยว อย่างเช่น ระบบการนำร่องหรือที่เรียกว่า navigation system การจองตั๋ว ที่พัก และบริการออนไลน์ และอื่น ๆ ซึ่งควรจะนำเข้ามาใช้เพื่อให้นักท่องเที่ยววางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

4.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะได้รับความสนใจมากขึ้น และคนจะสนใจการป้องกันหรือการทำให้มีสุขภาพดีไว้เสมอมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพมาก 

“ประเทศไทยต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการออกแบบตลาดที่เหมาะกับลูกค้า สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ รวมทั้งธุรกิจที่มีอยู่ต้องแสวงหาผู้ร่วมทุน หรือผู้ร่วมกิจการที่มีความแข็งแกร่งในด้านทุน หรือเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการตลาดเพื่อให้สามารถปรับตัวได้อย่างเข้มแข็ง” ดร.สมประวิณกล่าว

คลังคาดเปิดประเทศต้นปีหน้า ศก.โต 4-5%

ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ถ้าย้อนดูปีที่แล้วเศรษฐกิจของไทยหดตัว 6.1%  ดีกว่าสิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวสูงถึง 8-10%  ส่วนปีนี้นั้นตัวเลข GDP ในไตรมาสแรก แสดงถึงการฟื้นตัว 7.5% ซึ่งสูงกว่าคาดหมายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่คาดไว้ที่ 6.4%

อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม แต่สิ่งที่ รมว.คลัง และผู้ว่าธนาคารประเทศไทย ชี้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง เมื่อดูตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP ซึ่งในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 55% ต่อ GDP 

“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ไทยยังมีสถานะด้านการเงินการคลังที่ดีกว่า ซึ่งทำให้เราสามารถใช้มาตรการด้านการเงินการคลังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ หนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของไทยเป็นหนี้ภายในประเทศในรูปของเงินบาทและเป็นหนี้ระยะยาว” ดร.พิสิทธิ์กล่าว

ดร.พิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ส่วนตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ปริมาณเงินตราสำรองระหว่างประเทศนั้นอยู่ในระดับสูง และเมื่อเปรียบเทียบเงินสำรองระหว่างประเทศกับหนี้ต่างประเทศในระยะสั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่า  3.4% เล็กน้อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมักใช้ในการจัดอันดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ  และเป็นหลักฐานสำคัญของความทนทานของเศรษฐกิจไทยต่อภาวะวิกฤต 

เมื่อวานนี้ รัฐบาลไทยก็ได้ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคม แสดงให้เห็นว่ายังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 20.3%  และในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง  16%    ซึ่งทำให้การส่งออกกลายเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในขณะนี้   

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม GDP เติบโต 1.3% และในปีหน้า ทางกระทรวงการคลังก็คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวและมีอัตราการเติบโตราว 4-5% ซึ่งก็สอดคล้องกับการประมาณการของหน่วยงานอื่น ๆ ของประเทศ ทางกระทรวงการคลังก็คาดว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้นในช่วงปลายปี และน่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในช่วงต้นปีหน้า

เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทเพียงพอรับมือโควิด-กระตุ้น ศก.

นับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว รัฐบาลก็เริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบภายใต้โครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6 ของจีดีพีประเทศ เราสามารถเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อประคองเศรษฐกิจ มีการเบิกจ่าย 83% ไปแล้ว และยังคงมีเงินเหลืออยู่ 170,000 ล้านบาทที่จะใช้จ่ายในช่วงต่อไป   และมีประชากรไทย จำนวน  48.5 ล้านคนได้รับประโยชน์จากโครงการภายใต้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังได้จัดทำโครงการเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ขึ้นอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป  

“เมื่อรวมกันสองโครงการจะเห็นว่า เรามีทรัพยากรและเม็ดเงินพอสำหรับการต่อต้านโควิด และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้  และหากมีความต้องการเม็ดเงินอีก ทางคณะรัฐบาลก็สามารถที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมได้” นายพิสิทธิ์กล่าว