เปิดบทบาท EXIM Bank เครื่องมือช่วยเอสเอ็มอีส่งออกไปต่างประเทศ

EXIM Bank เปิดบทบาท “เติมความรู้-ต่อยอด-เติมเงิน” เครื่องมือช่วยเอสเอ็มอีส่งออกไปต่างประเทศ พร้อมรับประกันการส่งออกหากปฏิเสธชำระเงิน ดูแลผู้ประกอบการการจากต้นยันปลายทาง

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กล่าวในงานสัมมนาเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เรื่อง “MOVE ON ฝ่าวิกฤตโควิดเศรษฐกิจต้องเดินหน้า” ช่วง Guru Talk “ต่อลมหายใจ SMEs” ว่า นอกจากการดูแลผู้ส่งออก ที่แบงก์ทำมาตลอด 27 ปี แบงก์ยังดูแลผู้ที่ไปลงทุนอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งกิจการของประเทศไทยทั้งโรงงาน ไฟฟ้า เขื่อน และธุรกิจท่องเที่ยว EXIM Bank ก็ดูแล เช่น เขื่อนในประเทศลาว 60-70% ก็ใช้ทุนไทย เป็นต้น 

พร้อมกันนี้ ยังมีกลุ่มเอสเอ็มอีที่ธนาคารต้องการดูแลให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากในประเทศไทยมีเอสเอ็มอีอยู่ราว 3 ล้านคน โดยปัจจุบันมีที่ยืนบนเวทีโลกไม่ถึง 3 หมื่นราย หรือคิดเป็น 1% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม ซึ่งมีเอสเอ็มอีส่งออกไปยังต่างประเทศกว่า 10%

“ถ้าเราจะเร่งเครื่องในมุมของการส่งออก ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เราก็ต้องสามารถขยี้ปมตรงนี้ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ จาก 1% เป็น 10% ภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ซึ่งไม่ใช่การทำไปเรื่อยๆ เพราะว่าตัวเลข 1% นี้ ปรากฎอยู่ในข้อมูลมาเกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งเหล่านี้จะต้องดูว่าขั้นตอนเดิมของการดูแลผู้ประกอบการจะมีอะไรที่เราคงปิดช่องว่าง ถ้าเราดูแลแบบเดิมคือการเติมทุนเท่านั้น จะไม่สามารถตอบโจทย์โลกในวันนี้ได้”

สำหรับ EXIM Bank ที่ดูแลเอสเอ็มอีอยู่ขณะนี้ คือการเติมความรู้ หรือการบ่มเพาะเอสเอ็มอีที่จำเป็น เพราะเมื่อเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากโควิดสภาพก็เสื่อมถอยไปตามตลาด ฉะนั้น แบงก์จึงเข้ามาช่วยดูแลว่าทำอย่างไรให้สินค้า และการให้บริการของเอสเอ็มอีไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งก่อนที่จะเดิมเข้ามาหาแบงก์ ธนาคารจะไม่เติมเงินให้กับเอสเอ็มอีก่อน แต่จะเติมความรู้ก่อน 

จากนั้นจะต่อยอดธุรกิจให้กับลูกค้า โดยจะคัดรายชื่ออหรือผู้มีศักยภาพในการซื้อสินค้าของไทยในประเทศเป้าหมาย ซึ่งแบงก์จะเลือกให้เฉพาะกลุ่มสินค้าและกลุ่มผลิตภัณฑ์ หรือกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เป็นเอสเอ็มอีทำผลไม้อบแห้ง ก็จะไปดูว่าในโลกนี้มีประเทศใดบ้างที่ชอบผลไม้อบแห้งของไทย และจะเจาะจงข้อมูลให้กับเอสเอ็มอี จากนั้นก็จะจัดอีเว้นท์ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน แล้วเมื่อเกิดการซื้อขายกันแล้ว แบงก์จึงจะเติมเงิน หรือสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีรายนั้นๆ 

ทั้งนี้ EXIM Bank ยังบริหารความเสี่ยงให้กับเอสเอ็มอีผู้ส่งออก ด้วยการรับทำประกันภัยการส่งออก เพื่อรับความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน รวมทั้งการส่งของไปแล้วไม่ได้รับเงินตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ด้วย โดยที่ผ่านมาพบว่ากว่า 50% ของการเบี้ยวหนี้ เกิดจากการปฏิเสธการชำระเงิน เมื่อเอสเอ็มอีส่งสินค้าไปยังประเทศนั้นๆ แล้ว