ส่องโอกาสและความท้าทาย 100 บริษัทอาเซียน ปี 2018

นับเป็นปีที่ 3 ของการทำหนังสือฉบับพิเศษ “ASEAN 100 ประจำปี 2017” ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งปีนี้นำเสนอเรื่อง “TRANSFORMATION เกมเดิมพันธุรกิจแห่งอนาคต” ภายใต้กระแสเศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังของนวัตกรรมเทคโนโลยี ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ยังต้องปรับตัวเพื่อเดินไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งบนโลกดิจิทัลที่หมุนเร็ว ซึ่งข้อมูลผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 100 บริษัท ในตลาดหุ้นอาเซียน ช่วยสะท้อนภาพรวมของความสำเร็จการปรับตัวภาคธุรกิจเอกชนได้

โดย “สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “100 บริษัทอาเซียน” ในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ THAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ดังนี้

ข้อมูลจากภาพรวมผลดำเนินงานในปี 2559 พบว่า 100 บริษัทที่มีรายได้สูงสุดในอาเซียน มีมูลค่ารวมประมาณ 26.85 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 0.6%จากปี 2558 แต่กลับพบว่ายังสามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นได้ถึง 18% จากปีก่อนหน้า สะท้อนถึงความสามารถในการ “ลดต้นทุน” ของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ดังกล่าว และหากดู 10 อันดับแรกที่มีศักยภาพการทำรายได้สูงสุด พบว่า ประเทศไทยมีเพียง บมจ.ปตท.แห่งเดียวที่ติดท็อปเทน แต่ทว่า ปตท.ก็สามารถคว้าอันดับหนึ่งที่ทำรายได้สูงสุดในกลุ่มอาเซียนทีเดียว ส่วนที่เหลืออีก 9 แห่ง จะเป็นบริษัทของสิงคโปร์ราว 7 แห่ง และบริษัทของฟิลิปปินส์ 2 แห่ง

ขณะที่กระแสอาเซียนทรานส์ฟอร์มที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ “สุกิจ” ฉายภาพให้เห็นว่า ประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาวยังอยู่ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะที่ประเทศ “ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์” ได้ก้าวไปอยู่ในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค และกำลังจะไปอุตสาหกรรมขั้นสูงพวกเทคโนโลยี ส่วนเวียดนาม จะมีทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมไฮเทค เทคโนโลยี ด้านมาเลเซีย และสิงคโปร์ ก็ไปไกลกว่าไทยแล้ว

“ขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่วัดจากภาคการแข่งขันด้านดิจิทัลของอาเซียน อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ อันดับ 2 มาเลเซีย อันดับ 3 ไทย อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ อันดับ 5 อินโดนีเซีย ดังนั้นไทยยังมีการบ้านที่ต้องไปทำต่อ”

โดยต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีการส่งออกที่ฟื้นตัวแล้ว แต่ก็ยังเป็น “สินค้าที่ไม่ไฮเทค” มากนัก ซึ่งถ้าดูข้อมูลของประเทศที่มีการส่งออกประเภท “สินค้าไฮเทค”พบว่าประเทศพวกนี้จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ค่อนข้างชัด

การที่ไทยยังส่งออกเดิม ๆ โอกาสดึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศก็คงไม่เท่าประเทศอื่น นั่นจึงเป็นที่มาของโอกาสที่รัฐบาล “ผลักดัน” สินค้าไฮเทค รวมทั้งการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะพัฒนา

สุกิจกล่าวถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลมีการพูดคุยมานาน แต่อาจต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่อยู่ในขั้นตอนนี้ แต่เป็นทุกประเทศ

“ไทยอาจจะล่าช้า เพราะตอนนี้โครงการพีพีพี (การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน) ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าไร ขณะที่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม กำลังคืบหน้าได้เร็ว แต่จีนนั้นมาแรง เห็นได้จากรถไฟความเร็วสูง โครงการ One Belt One Road ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราต้องเร่งลงทุนเพิ่มขึ้น” นายสุกิจกล่าว

เมื่อมองภาพของอาเซียนในปีหน้า “สุกิจ” กล่าวว่า ต้องยกให้การลงทุนภาคเอกชนเป็น “พระเอก” โดยจะมีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่อย่าง “จีน” ที่ยังคงมาแรง ดังนั้นจะเห็นการลงทุนขยายตัวทั้งอาเซียน เช่นเดียวกับญี่ปุ่นก็เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจดี ดังนั้นเงินที่ล้นระบบ และดอกเบี้ยที่ยังต่ำ

จะสร้างความคุ้มค่าให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอาเซียนรวมถึงไทย จึงเชื่อว่าปีหน้าเงินลงทุนโดยตรงหรือ FDI จะมีเข้ามาแน่นอน โดยเฉพาะนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์จากจีน

“อาเซียนกำลังเร่งความเร็วในการลงทุน เห็นได้จากนักลงทุนไทยเข้าไปเวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมา พร้อมเพิ่มการลงทุนในกัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย”

และเมื่อมาดูการเคลื่อนไหวของอาเซียนในภาคแรงงาน ก็จะเริ่มเห็น gig economy เทรนด์ที่คนทำงานฟรีแลนซ์มากขึ้น ซึ่งในไทยยังไม่มีการเก็บสถิติ แต่ที่สิงคโปร์มีแรงงาน 8% ที่ไม่เข้าไปอยู่ในระบบ รวมทั้งนักศึกษาจบใหม่ของสิงคโปร์ไม่ทำงานประจำอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์

ขณะที่เวียดนามก็กำลังบูมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่วนอินโดนีเซียก็เป็นประเทศที่มีคนใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 132.7 ล้านคน และมีสมาร์ทดีไวซ์ถึง 92 ล้านเครื่อง มาเลเซียก็มีการจัดตั้งดิจิทัลฟรีเทรด โดยอาลีบาบาเข้ามาช่วย เช่นเดียวกับสิงคโปร์ก็มุ่งเน้นไปพัฒนาสตาร์ตอัพ

ณ เวลานี้ ถือว่าเรา (ไทย) หาจุดเปลี่ยน และเดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งโอกาสก็มี จะเหลือเพียงแค่ว่า “เราจะทำได้หรือไม่” ส่วนภาคธุรกิจเอสเอ็มอียังคงต้อง “ระมัดระวัง” ต่อไป


สุกิจทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปคือความท้าทายในการกำหนดกลยุทธ์ของประเทศ และภาคธุรกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ จะเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ของประเทศในอาเซียน