ทริส ยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มลบ GULF เหตุใช้เงินซื้อหุ้น INTUCH-AIS น้อยกว่าคาด

กัลฟ์ซื้ออินทัชเพิ่ม

ทริสเรทติ้ง ยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” หรือ GULF โดยคงอันดับเครดิตองค์กรที่ “A” หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ “A-” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable” หลังจากบริษัทใช้เงินซื้อหุ้น “INTUCH-AIS” ต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ทริสเรทติ้ง ประกาศยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 และคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A” และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “A-” พร้อมกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่”

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้และ/หรือขยายธุรกิจ

ทั้งนี้ การยกเลิกเครดิตพินิจดังกล่าวสืบเนื่องมาจากผลของการเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งบริษัทใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 4.86 หมื่นล้านบาทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้เดิมที่จำนวน 1.2-1.7 แสนล้านบาท ในการนี้ บริษัทได้ซื้อหุ้นในบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 23.32% ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในบริษัทแห่งนี้เพิ่มขึ้นเป็น 42.25% นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อหุ้นของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ในสัดส่วนเล็กน้อยจากการเสนอซื้อดังกล่าว

ทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะทางการเงินของบริษัทหลังการซื้อหุ้นของบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ นั้นยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ได้รับ การถือหุ้นในสัดส่วน 42.25% ในบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ นั้นจะทำให้บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงปี 2561-2563 บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ มีกำไรสุทธิโดยเฉลี่ยประมาณ 1.12 หมื่นล้านบาทต่อปีและจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยที่จำนวน 8.6 พันล้านบาทต่อปี

หลังการซื้อหุ้นของบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 10 เท่าในปี 2564 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นโดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8-9 เท่าในระหว่างปี 2565-2566 เมื่อมีการรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ เต็มจำนวนแล้ว นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ได้ต่อไปด้วย

อันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) ของหุ้นกู้เมื่อเปรียบเทียบกับเงินกู้ของบริษัทย่อย

ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 หนี้เงินกู้รวมของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 1.62 แสนล้านบาทซึ่งประมาณ 1.2 แสนล้านบาทเป็นหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทย่อยซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 74% สูงกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งที่ระดับ 50% ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากลำดับสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โดยอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 8 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง

ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทล่าช้าไปจากกำหนดการอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้จำนวนมากจนทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตได้