พิษโควิดทุบยอด “กดเงินสดผ่านบัตรเครดิต” วูบหนัก

ธปท. ค่าธรรมเนียมบัตร
ภาพจาก pixabay

ยอดเบิกเงินสดผ่านบัตรเครดิต “แบงก์-น็อนแบงก์” ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ชะลอหนัก -41.1% “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้พิษโควิดทำคนระวังการใช้จ่าย-ชะลอก่อหนี้เพิ่ม “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ระบุลูกค้าเก่าวงเงินเต็ม-ลูกค้าใหม่หายาก ฟาก “อิออน-เซ็นทรัล เดอะวัน” เผยความต้องการใช้น้อยลง-แบงก์เข้มอนุมัติ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ยังคงมีทิศทางติดลบมากขึ้น จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่ายและหยุดก่อหนี้บางส่วนที่ไม่จำเป็น หรือลูกหนี้บางรายอาจจะมีภาระหนี้สูงจนก่อหนี้ใหม่ลำบาก สอดคล้องกับแนวโน้มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) ชะลอลง

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า ยอดเบิกใช้เงินสดล่วงหน้าบัตรเครดิตในระบบแบงก์อยู่ที่ 24,374 ล้านบาท ชะลอตัว -48.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ยอดเบิกเงินสดทั้งปี 2563 ก็อยู่ที่ -37.6% ต่อปี ขณะที่น็อนแบงก์มียอดอยู่ที่ 11,739 ล้านบาท ชะลอตัว -55.6% ต่อปี ขณะที่ปี 2563 มียอดอยู่ที่ 54,914 ล้านบาท หรือลดลง -28.9% ต่อปี ทำให้รวมทั้งระบบช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มียอดเบิกเงินสดอยู่ที่ 43,275 ล้านบาท ลดลง -41.1% ต่อปี ชะลอต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ทั้งปีอยู่ที่ -34.5%

“ยอดเบิกเงินสดติดลบต่อเนื่อง เกิดจากโควิด-19 ทำให้คนกู้ลำบาก เพราะวงเงินอาจจะเต็มเพดาน ซึ่งการก่อหนี้ใหม่อาจยาก หรือส่วนหนึ่งไม่อยากกู้จากสถานการณ์ไม่แน่นอน จึงระมัดระวังมากขึ้น”

นางสาวกาญจนากล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว โดยผ่อนปรนเกณฑ์สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ประเมินผลว่าน่าจะมีผลไม่มาก กับการเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตในช่วงที่เหลือของปีนี้

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในช่วง 5 เดือนแรก หดตัว -28% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรืออยู่ที่ 1.58 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี เชื่อว่าความต้องการเบิกเงินสดยังคงมีอยู่ แต่การกดเงินสดลดลง มาจากลูกค้าส่วนหนึ่งวงเงินเต็มเพดาน และผลโควิด-19 กระทบต่อรายได้ ซึ่งส่งสัญญาณต่อการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้การอนุมัติหรือปรับเพดานวงเงินกดเงินสดทำได้ยากขึ้น

ขณะเดียวกัน การอนุมัติสินเชื่อลูกค้ารายใหม่ก็ทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะมีการปิดสาขา ที่เป็นช่องทางหลัก ส่งผลให้การอนุมัติลูกค้ารายใหม่อยู่ที่ 2 หมื่นรายต่อเดือน ปรับลดลงราว 50% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงนโยบายการหาลูกค้าใหม่ต้องมีความระมัดระวัง และลูกค้าเองไม่ผ่านคุณสมบัติ ทำให้การอนุมัติสินเชื่อ (approval rate) ปรับลดลง 3-4% กระทบการกดเงินสดด้วย

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมการระบาดโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อบรรยากาศความต้องการใช้เงิน (demand on cash) น้อยลง โดยคนที่ไม่จำเป็นใช้จะชะลอซื้อของ และผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกล็อกดาวน์ ทำให้การใช้จ่ายหายไป ส่งผลให้การเบิกเงินสดในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตติดลบ เช่นเดียวกับยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ปรับลดลง

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ดเซอร์วิสเซสจำกัด (GCS) กล่าวว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้สถาบันการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้นเลยจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขคุณสมบัติอนุมัติการกดเงินสดให้เข้มขึ้น ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการเบิกเงินสดของ GCS หดตัว -20% และคาดว่าทั้งปีจะยังคงติดลบ