จับตาทิศทางนโยบายการเงินเฟด ในการประชุมแจ็กสัน โฮล คืนนี้

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

จับตาทิศทางนโยบายการเงินเฟด ในการประชุมแจ็กสัน โฮล คืนนี้ ขณะที่เงินบาทกลับมาปรับตัวแข็งค่า ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม-27 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (23/8) ที่ระดับ 33.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐร่วงลงหลังจากไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและปริมาณเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 55.4 ในเดือนสิงหาคม อันเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว จากระดับ 55.9 ในเดือนกรกฎาคม

ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้น ลดลงสู่ระดับ 61.2 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 63.4 ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 62.5 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการบริการขั้นต้น ลดลงสู่ระดับ 55.2 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 59.9 ในเดือนกรกฎาคม และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่รดับ 59.5

ผลสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่า การขยายตัวของกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐชะลอลงในเดือนสิงหาคม เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน เคยได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนอุปทาน และการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งเดิมคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนกันยายนออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายนแทน

ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์โอกาสที่เฟดจะเริ่มปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะมีโอกาส 25% เป็น 45% และคาดว่าเฟดจะปรับลดวงเงินลงครั้งละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการประชุมเฟดแต่ละครั้ง

อย่างไรก็ดี นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 สิงหาคม สำหรับสัญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงินในโครงกรซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ในการประชุมดังกล่าว

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่สำคัญ ในส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองฟื้นตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม หรือปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 2% สู่ระดับ 5.99 ล้านยูนิต เหนือระดับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 5.83 ล้านยูนิต เช่นเดียวกับยอดขายบ้านใหม่ ซึ่งรายงานโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0% สู่ระดับ 708,000 ยูนิตในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 700,000 ยูนิต

ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนปรับตัวลดลง 0.1% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนมิถุนายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัว 0.5% โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน และการพุ่งขึ้นของราคาวัตถุดิบ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นอีกครั้งหลังการเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2

สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาส 2/2564 ในวันพฤหัสบดี (26/8) ซึ่งขยายตัว 6.6% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 6.5% หลังจากที่ขยายตัว 6.3% ในไตรมาสแรก ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะมีการขยายตัว 7.0% ในปีนี้ หลังจากหดตัว 3.4% ในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 353,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 349,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 350,000 ราย ทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีดอลลาร์สหรัฐยังคงอยู่ในกรอบจำกัด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานไทยแลนด์โฟกัส 2021 ว่าเศรษกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรง ทำให้การฟื้นตัวค่อนข้างช้าและยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถกลับมาตามที่คาดไว้ได้ ส่งผลให้ภาคบริการยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวกลับมาในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก แต่เสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงมาตลอด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่น และมีความเสี่ยงในด้านต่ำค่อนข้างจำกัด โดยมีปัจจัยฟื้นฐานแข็งแกร่งใน 3 ด้านสำคัญ

ได้แก่ 1.ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ขณะที่หนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ 2.ภาคธุรกิจธนาคารยังมีความเข้มแข็ง สามารถรองรัผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตได้ดี 3.หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังมีช่องทางสำหรับใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ อย่างรวดเร็ว ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการฟื้นตัวกลับหลังจากการอ่อนค่าอย่างรุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.60-33.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 32.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (23/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1699/1.1701 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 1.1674/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ ตามสกุลเงินหลักอื่นในส่วนของข้อมูลทางเศรษฐกิจ ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ 60.2 สู่ระดับ 59.6 ในเดือนสิงหาคม โดยได้รับแรงกดดันจากภาคการผลิตซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นในภูมิภาค ส่งผลให้ยังคงมีภาวะขาดแคลนอุปทาน

ขณะที่ภาคการบริการยังคงเติบโตได้หลังจากที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศก่อนหน้านี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1691-1.1781 ดอลลาร์สหรับ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 1.1752/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (23/8) ที่ระดับ 109.84/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 109.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยภาพรวมภาคการผลิตในประเทศยังคงชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.41-110.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 110.13/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ