เงินบาททรงตัว ตลาดจับตาดูผลประชุม ECB และ BOJ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (18/7) ที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแอของสหรัฐ เงินสกุลดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจกแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ลดลงต่ำกว่า 50% ผนวกกับปัจจัยที่ว่า ความพยายามของพรรครีพับลิกันในการถอดถอนกฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ และบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพสหรัฐฉบับใหม่นั้น อาจจะประสบความล้มเหลว ส่งผลให้ตลาดมีแรงเทขายดอลลาร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (18/7) ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการลดยอดขาดดุลการค้ากับเม็กซิโกและแคนาดา ด้วยการเจรจาแก้ไขข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งนายไลท์ไฮเซอร์ กล่าวในการแถลงสรุปการเจรจาแก้ไขข้อตกลงการค้าระหว่างทั้ง 3 ประเทศในครั้งนี้ว่า “นอกจาก ปธน.ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่รื้อข้อตกลงซึ่งครอบคลุมด้านการค้าเสรีของประเทศอย่าง NAFTA ครั้งใหม่นี้” ทั้งนี้ การเจรจาแก้ไขข้อตกลง NAFTA ซึ่งถูกใช้มาแล้วถึง 23 ปีฉบับนี้ จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคมที่จะถึงนี้ โดยผู้แทนการค้าสหรัฐ กล่าวว่า “การเจรจาเพื่อแก้ข้อตกลง NAFTA ครั้งใหม่นี้ คณะบริหารของประธานาธิบดี ทรัมป์ จะแสวงหาข้อตกลงที่ดีขึ้นเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ และมอบความเป็นธรรมให้กับชาวอเมริกัน โดยจะทำให้ผู้ผลิต เกษตรกร และผู้ให้บริการจากสหรัฐ เข้าถึงตลาดเม็กซิโกและแคนาดาได้ง่ายขึ้น” อย่างไรจากทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.61-33.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (19/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1543/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (18/7) ที่ระดับ 1.1525/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป หรือ ZEW เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลง 1.1 จุด สู่ระดับ 17.5 จุดในเดือนกรกฎาคมจากระดับ 18.6 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 23.8 ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ยในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เงินสกุลยูโรยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนตัวของดอลลาร์ นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรปจะมีการจัดประชุมนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งทางนักวิเคราะห์คาดว่า อีซีบีคงจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2562 หลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ได้ส่งสัญญาณเมื่อเดือนที่แล้ว เกี่ยวกับการปรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ ECB โดยมีเป้าหมายในการคงภาวะผ่อนคลายทางการเงินในปัจจุบัน มากกว่า ที่จะคุมเข้มทางการเงิน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1515-1.155 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1532/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (19/7) เปิดตลาดที่ระดับ 112.09/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (18/7) ที่ระดับ 112.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้มีการปรับลดการคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณของประเทศลงมาอยู่ที่ 8.2 ล้านล้านเยน (7.2 หมื่นล้านดอลลาร์) สำหรับงบประมาณปี 2563 ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงจากการคาดการณ์ที่ผ่านมาที่ 8.3 ล้านล้านเยน แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงห่างไกลจากเป้าหมายเกินดุลงบประมาณของรัฐบาลอยู่อีกมาก ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งความหวังไว้ว่า ประเทศจะมีงบประมาณเกินดุลในปี 2563 นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า BOJ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบพลิกผัน เมื่อพิจารณาจากภาวะเงินเฟ้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงซบเซา ซึ่งรายงานการประชุมของ BOJ รอบวันที่ 26-27 เมษายน ซึ่งได้มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ หลายคนมีความคิดเห็นตรงกันว่า การปรับตัวขึ้นของค่าแรงและเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังค่อนข้างอ่อนแอ แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 111.89-112.22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 111.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญทางฝั่งสหรัฐที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนกรกฎาคมจากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) (19/7), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมิถุนายน (19/7) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/7) ในส่วนของฝั่งยุโรปนั้นมีผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (20/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.2/+0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.4/1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้