จับตาฟันด์โฟลว์ไหลเข้า ทำค่าเงินบาทขยับแข็งค่า 32.40 บาท

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

แบงก์ประเมินบาทกลับมาแข็งค่าระดับ 32.40-32.90 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเฟดลดคิวอี-ตัวเลขจ้างงาน-มาตรการคลายล็อกดาวน์ เผยสัญญาณเงินไหลเข้าตลาดบอนด์

วันที่ 29 สิงหาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 30 สิงหาคม-3 กันยายน 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.40-32.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยท่าทีการส่งสัญญาณของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เรื่องทิศทางนโยบายการเงิน และตัวเลขการจ้างงานที่ตลาดคาดว่าจะออกมามากกว่า 7 แสนตำแหน่ง รวมถึงดัชนีภาคการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งออกมาตามคาดการณ์แนวโน้มเงินดอลลาร์อาจจะอ่อนค่า และเงินค่าบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นได้ 

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังคงต้องติดตามมาตรการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล จะออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งสะท้อนไปยังความมั่นใจนักลงทุน ซึ่งจะเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนมีมุมมองต่อไทยดีขึ้น จึงเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) มากขึ้น แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเข้ามาเล่นเพื่อเก็งเรื่องค่าเงินก็ตาม โดยในระยะสั้นน่าจะมีสัญญาณในลักษณะดังกล่าวต่อไป

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีนักลงทุนซื้อสุทธิตลาดหุ้น 1.34 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิบอนด์ราว 2.46 หมื่ล้านบาท ซึ่งมียอดเงินไหลเข้าสุทธิ 3.8 หมื่นบ้านบาท 

“ในสัปดาห์หน้ายังคงเห็นเงินไหลเข้าสุทธิอยู่จนกว่าจะเห็นดัชนีตลาดหุ้นขึ้นไปอยู่ที่ 1,650 จุด ซึ่งชะลอตลาดและช่วยลดบาทอ่อนได้ และตลาดรอดูรัฐจะลดชั่วโมงเคอร์ฟิวหรือไม่ หากรัฐบาลทำจะช่วยทำให้ฟันด์โฟลว์ยังคงไหลเข้าต่อ” 

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่กรอบ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดคาดว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะแสดงท่าทีระมัดระวัง และส่งสัญญาณความชัดเจนมากขึ้นว่าจะเริ่มลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE) ในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี หากไม่เป็นไปตามนี้ คือ ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มตั้งแต่ต้นไตรมาส 4 เลย อาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สูงปรับเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันต้องติดตามข้อมูล ISM ภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ที่สำคัญคือการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค.โดยคาดว่าตลาดจะบวกราว 8 แสนตำแหน่งได้

“สำหรับค่าเงินบาท พลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทั้งปัจจัยทางด้านเทคนิค การตัดขาดทุน และมุมมองที่ว่าข่าวเชิงลบเฉพาะตัวอาจถูกสะท้อนไปมากแล้วหลังจากช่วงกลางเดือน ส.ค. อ่อนค่ากว่า 10% นับจากต้นปี การกลับสถานะการลงทุนทำให้ในระยะนี้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาพักในตลาดบอนด์ไทย อย่างไรก็ดี คาดว่าความผันผวนระหว่างวันจะอยู่ในระดับสูง ต้องติดตามยอดผู้ติดเชื้อหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ และกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย”