ธปท.เปิด Q3 นาโนไฟแนนซ์ NPL ปูด 70%-ลากยาวข้ามปี

ธปท.เผยเอ็นพีแอลสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไตรมาส 3 พุ่งเฉียด 70% บิ๊กเมืองไทย ลิสซิ่งชี้เอ็นพีแอลขาขึ้นลากยาวถึงปีหน้า แจงผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ เหตุเศรษฐกิจชะลอ-เกษตรกรเสียหายจากน้ำท่วม ด้านกรุงศรีรับสินเชื่อนาโน “ชะลอตัว” หวังเหยียบคันเร่งปีหน้า โหนกระแสคิวอาร์โค้ด ทำให้เห็นตัวตนลูกค้าชัดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) ณ ไตรมาส 3/2560 ว่า มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด โดยเอ็นพีแอลมาอยู่ที่ 124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 67% หรือ 50 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีเอ็นพีแอลเพียง 74 ล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์พบว่าปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 137,431 บัญชี เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่มีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 112,571 บัญชี โดยมีมูลค่าสินเชื่อคงค้าง 3,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาสก่อนหน้าที่มียอดสินเชื่อคงค้างที่ 3,071 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มีจำนวน 25 ราย

ด้านนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) กล่าวว่า งวดไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทมีเอ็นพีแอลนาโนไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.95% ของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์รวม หลังจากไตรมาส 2 เอ็นพีแอลมีเพียง 0.7% ซึ่งหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ส่วนหนึ่งมาจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย จึงทำให้ไม่สามารถชำระเงินกู้คืนได้ โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะเห็นเอ็นพีแอลของบริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 1% และปรับตัวต่อเนื่องในปี 2561

“ท่ามกลางเอ็นพีแอลที่ยังอยู่ในระดับสูง บริษัทจึงต้องระมัดระวังในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยจะเน้นปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเดิมที่มีประวัติอยู่แล้ว และเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้าใหม่ ๆ เช่น รายละเอียดของผู้กู้ ว่าต้องการนำเงินไปใช้ในวัตถุประสงค์อะไร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปีหน้าบริษัทคงไม่ได้มีการชะลอการปล่อยกู้ เนื่องจากยังมีคนอีกมากที่ต้องการเงิน แต่ก็คงจะให้วงเงินกู้รายละ 2.5-3 หมื่นบาท ซึ่งเป็นระดับคงเดิม และตั้งเป้าว่าปีหน้าจะเติบโตราว 30% ทั้งจำนวนลูกค้าและวงเงินกู้” นายชูชาติกล่าว

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3/2560 บริษัทมียอดคงค้างสินเชื่อ 838 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดคงค้างสินเชื่อจะอยู่ที่ 920 ล้านบาท ส่วนจำนวนลูกหนี้นาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ 37,000 ราย เพิ่มขึ้นราว 2,000 ราย จากไตรมาสก่อนหน้า โดยภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 40,000 ราย

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัทกรุงศรี คอนซูเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า บริษัทได้เข้าไปปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ภายใต้ชื่อ “สินเชื่อเถ้าแก่ทันใจ” ซึ่งพบว่าไตรมาส 3 ที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อประมาณ 75 ล้านบาท และเป็นเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4-5% ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนที่จะรักษาระดับเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 3% ภายในสิ้นปีนี้ไปจนถึงปีหน้า โดยคาดว่าปีหน้าจะมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีลูกค้าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 2,000 ราย และปี 2561 ตั้งเป้าหมายว่าจะมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ราย

“การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์สิ้นไตรมาส 3 ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เราตั้งใจชะลอการปล่อยกู้ เพราะด้วยระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อยาวนานกว่าที่คิด รวมถึงการติดตามลูกหนี้ เช่น เราตั้งเป้าติดตามลูกหนี้วันละ 10 ราย แต่ทำได้แค่ 5 ราย ทำให้ภาพรวมนาโนไฟแนนซ์ของเราออกมาต่ำเป้าหมาย ส่วนหนี้เสียปีนี้ก็คงยังไม่หยุด แต่เมื่อไหร่ที่คิวอาร์โค้ดมา เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อสินเชื่อนาโนฯ เพราะหากภาคธุรกิจรับคิวอาร์โค้ดจะทำให้เราเห็นธุรกรรมการเงินได้ง่ายขึ้น การอนุมัติก็จะทำได้ง่าย เราก็จะเหยียบคันเร่งเลย เพราะคิวอาร์โค้ดจะทำให้การเข้าไปปล่อยนาโน ไมโครไฟแนนซ์มีประสิทธิภาพขึ้น อนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น” นายฐากรกล่าว