ร้านออนไลน์เสียโอกาส โควิดทำธุรกิจขนส่งสะดุด

คอลัมน์ Smart SMEs
ชัยยศ ตันพิสุทธิ์
ธนาคารกสิกรไทย

ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ หรือ Last-mile delivery เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

โดยคาดว่ารายได้ของธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 71,800 ล้านบาท ขยายตัว 19.0% ซึ่งชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ถึง 31.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นทำให้พนักงานขนส่งสินค้าของหลายบริษัทติดเชื้อ

ประกอบกับการขยายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ศูนย์กระจายสินค้ารวมถึงสาขาที่รับ-ส่งสินค้าบางแห่ง ทั้งที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้าต้องปิดทำการชั่วคราว จึงต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าไปยังปลายทางนานขึ้นกว่าช่วงปกติ

ส่งผลให้ธุรกิจร้านค้าออนไลน์ได้รับผลกระทบ ดังนี้

– ร้านค้าออนไลน์ในกลุ่มอาหาร (food) ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เน่าเสียง่าย ส่งผลกระทบต่อยอดขายทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ผักและผลไม้

ซึ่งจริง ๆ เป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่เมื่อขนส่งไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ หรือใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ และสินค้าไม่สามารถจัดเก็บได้นาน ทำให้บางพื้นที่งดรับการจัดส่งสินค้าในกลุ่มนี้ชั่วคราวส่งผลให้ร้านค้าที่ขายสินค้าเหล่านี้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจตามไปด้วย

– ร้านค้าออนไลน์กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (nonfood) หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน ถึงแม้จะยังขายได้แต่ยอดขายไม่หวือหวาเท่ากับช่วงล็อกดาวน์ในปีที่แล้ว

เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัวและมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้นปัญหาของธุรกิจขนส่งจึงส่งผลกระทบกับร้านค้ากลุ่มนี้น้อยกว่า แต่ก็มีผลทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อยากขึ้น เนื่องจากต้องรอสินค้านานกว่าปกติ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ภาพรวมจะยังสามารถเติบโตได้ แต่ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์มีการแข่งขันรุนแรงจากจำนวนผู้เล่นในตลาดมากราย โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาค่าขนส่ง แต่ยังต้องแบกรับต้นทุนที่เกี่ยวกับการสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและพนักงาน รวมถึงต้นทุนในการบริหารจัดการเส้นทางการส่งสินค้าใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมที่มีปัญหา

ในขณะที่ต้องลดราคาค่าขนส่งให้ถูกลง เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน เงินทุน และการปรับตัวที่ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ทัน