จับเข่าคุย 2 ซีอีโอ เปิดสูตรดำเนินธุรกิจประกัน หลังรัฐคลายล็อกดาวน์

นุสรา (อัสสกุล)- ธีรวุฒิ
(ซ้าย) นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์- ธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร(ขวา)

ทราบกันดีว่าท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบไปทุกหย่อมย่านนั้น ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวกันพัลวันเพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตรอบนี้ไปให้ได้ โดยธุรกิจประกันก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีโอกาสในวิกฤตจากเบี้ยโควิดอยู่บ้าง ทว่า ในภาพรวมก็ยังต้องบริหารจัดการกันอย่างเต็มที่ ส่วนมองไปข้างหน้าที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่ 1 ก.ย.นีเป็นต้นไป การบริหารธุรกิจประกันจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ 2 ซีอีโอธุรกิจประกันมานำเสนอ

บทเรียนบริหารธุรกิจฝ่าโควิด

โดยทางฝั่งธุรกิจประกันวินาศภัย “ธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บอกว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบวิกฤตโควิดมาตั้งแต่ปี 2563 ทุกธุรกิจพยายามปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอดและก้าวผ่านวิกฤตไปให้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะประสบผลสำเร็จ

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ตัวธุรกิจสามารถอยู่รอดไปได้คือ 1.ต้องมีรายรับเข้ามาได้สม่ำเสมอ และ 2.ควบคู่การบริหารค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและลดลง เพื่อให้ผลกำไรคงอยู่ในระดับน่าพอใจ

ทว่า ลำพังการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเดียว องค์กรจะไม่สามารถรักษาผลกำไรไปสู่เป้าหมายได้ ดังนั้น ต้องมองโอกาสสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจใหม่ ๆ ของตัวเองอย่างไรเพื่อจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับเพื่อช่วยสร้างยอดขายและการเติบโตต่อไปได้ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทประกันมองการเป็นพาร์ตเนอร์กับอินชัวร์เทค หรือลงทุนสร้างสตาร์ตอัพอินชัวร์เทคขึ้นมาเอง

ซึ่งบริษัทเองก็มองเรื่องนี้ แต่สำคัญที่สุดคือต้องตอบโจทย์บริษัทและแก้ไขอุปสรรคของผู้บริโภคได้

นักท่องเที่ยวต่างชาติตัวแปรฟื้น ศก.

“ธีรวุฒิ” มองว่าปัจจุบันจำนวนผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯน่าจะมากกว่า 80-90% สำหรับเข็มแรกและเข็มสองน่าจะทยอยเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าน่าพอใจและน่าจะหนุนให้อัตราการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้และลดลง จะมีส่วนผลักดันทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น “ภาคท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ปัจจุบันยังไม่เห็นเม็ดเงินที่กลับมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้น ถ้ากลับมาได้เร็วจะหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้น” นายธีรวุฒิกล่าว

คลายล็อกดาวน์โควิดยังอยู่

ฟากธุรกิจประกันชีวิต “นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้จะผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 ยังไม่จบ ภาวะเศรษฐกิจไทยคงยังไม่น่าจะดี ซึ่งเวลาเจอผลกระทบแบบนี้ที่ยังไม่เห็นจุดต่ำสุด แม้กระทรวงสาธารณสุขอาจจะมองว่าช่วงนี้สถานการณ์ดูดีขึ้น แต่คงไม่มีใครแน่ใจได้ว่าโควิดจะเกิดการระบาดกลับมาเป็นช่วง ๆ อีกหรือไม่

ธุรกิจต้องปรับตัว-หาโมเดลใหม่

ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องมองว่าภาวะเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี ยังต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการยังจำเป็นต้องคิดหาแนวทางเพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มอล) รวมไปถึงการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้นและเร็วขึ้น นอกจากนี้ ต้องพยายามมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ (new business model) ด้วย เพื่อจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากผลกระทบโควิด, อัตราดอกเบี้ยต่ำ และการมาของดิจิทัล

ส่วนสัญญาณกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางไปจนถึงผู้มีรายได้น้อยนั้น “นุสรา” มองว่า บริษัทประกันภัยคงต้องพยายามหาสินค้าที่เหมาะกับคนที่มีรายได้น้อยให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไประมัดระวังค่าใช้จ่ายของตัวเอง หรือหาโมเดลธุรกิจใหม่ หรือหากระบวนการทำงานใหม่ที่จะช่วยลดต้นทุนและค่าบริการต่าง ๆ ให้ได้

วัคซีนคือความหวังของธุรกิจ

เพราะตอนนี้สัญญาณการจ่ายเคลมประกันโควิด-19 ในอุตสาหกรรมประกันภัยเริ่มเห็นผลกระทบที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อนุมัติให้จ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดสีเขียว (ไม่แสดงอาการ) เข้ารับการรักษาแบบ home isolation และ community isolation

“แน่นอนความหวังของเราอยู่ที่รัฐสามารถนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนได้มากพอ แต่ปัจจุบันยังรู้สึกว่าทำได้ช้า จึงอาจจะไม่ทันกับเชื้อกลายพันธุ์ได้ เราจึงต้องมองหาวัคซีนที่จะรองรับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่น่าจะผลิตออกมาในปีหน้าด้วย โดยสิ่งที่อยากฝากรัฐบาลคือ ต้องดำเนินการเรื่องวัคซีนให้ได้ เอาให้อยู่ และบริหารจัดการดูแลเรื่องสาธารณสุขให้ได้ทัน รวมไปถึงการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้คนเกิดความเชื่อใจ โปร่งใส ชัดเจน และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น” นางนุสรากล่าว

ทุกฝ่ายล้วนคาดหวังให้สถานการณ์หลังจากนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครอยากเห็นการกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจและประชาชนคนไทย