ธปท. ชี้ธุรกิจขนส่ง-ก่อสร้าง สภาพคล่องหดหนัก

รมหนี้รายย่อย

ธปท.เผยผลสำรวจผลกระทบโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจเดือนส.ค. สะท้อนการฟื้นตัวอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะมีการคลายล็อกดาวน์ เหตุกำลังซื้ออ่อนแอกดดันฟื้นตัวธุรกิจ เผยสัดส่วนธุรกิจเหลือสภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือนขยับเพิ่มขึ้นจาก 12.6% เป็น 14.3%

วันที่ 1 กันยายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนสิงหาคม 2564 โดยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) เดือนสิงหาคม 2564 พบว่า ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเดือนก่อน

แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดบางส่วน แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงกดดันการฟื้นตัวในหลายธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่มีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน และให้ใช้วันลาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิตที่มีระดับการใช้นโยบายข้างต้นกลับมาใกล้เคียงกับช่วงที่มีการ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศในเดือน เม.ย. 63

ขณะที่สภาพคล่องสำรองของภาคธุรกิจลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิต อาทิ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร และธุรกิจก่อสร้าง สะท้อนจากสัดส่วนของธุรกิจที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือนเพิ่มขึ้นจาก 12.6% ในเดือน ส.ค.เพิ่มเป็น 14.3% ในเดือน ก.ค. โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่ปรับลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกในเดือน เม.ย. 63 โดยธุรกิจกว่าครึ่งเลือกที่จะปรับตัวโดยการลดต้นทุนและชะลอการลงทุนเป็นสำคัญ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อ

สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับดีขึ้นเล็กน้อยทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า หลังรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขของร้านอาหารให้สามารถใช้ครัวในการประกอบอาหารแบบ delivery ได้ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเดือนเมษายน 2563 ที่ประกาศ Lockdown ครั้งแรก

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการประเมินว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนบ้าง โดยการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมฯ ที่รุนแรงยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อและรายได้ภาคครัวเรือน