ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานของสหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ
(File Photo by JOEL SAGET / AFP)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่า นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานของสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยในนักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 32.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานวา สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 1 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/9) ที่ระดับ 32.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (31/8) ที่ระดับ 32.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากตัวเลขของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 113.8 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 125.1 ในเดือนกรกฎาคม และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 124.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมของสหรัฐในวันศุกร์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เมื่อใด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศปรับตัวลดลงต่ำกว่า 2 หมื่นคนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการคลายล็อกดาวน์ต่าง ๆ ในพื้นที่สีแดง

โดยวันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,802 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,219,531 ราย

ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.21-32.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (1/9) ที่ระดับ 1.1804/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (31/8) ที่ระดับ 1.1825/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลดลง 5.1% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.5% ในเดือนมิถุนายน

โดยยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.9% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1800-1.1818 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1816/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/9) ที่ระดับ 110.20/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (31/8) ที่ระดับ 109.80/84 เยน/ดอลลาร์ โดยนายมาซาซูมิ วากาตาเบะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า BOJ จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นก็ตาม

โดยการแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นตัวตอกย้ำกระแสคาดการณ์ที่ว่า BOJ จะยังไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในช่วงวิกฤตการณ์เช่นนี้ แม้ธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ เริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันแล้วก็ตาม โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.16-110.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.29/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐเดือนสิงหาคม จากสถาบัน ADP (1/9), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐเดือนสิงหาคม (3/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศ อยู่ที่ +0.1/+0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.0/-0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ