แบงก์รับลูกอุ้มลูกหนี้โควิด ชี้กลุ่มโรงแรมส่อปรับโครงสร้างหนี้ยาว 10-15 ปี

แบงก์พาณิชย์-ตั้งสำรอง

“ธปท.-สมาคมธนาคารไทย” จับมือผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เจอผลกระทบโควิด-19 เพิ่มเติม เน้นเติมสภาพคล่อง-ปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ประธานสมาคมแบงก์เร่งออก “โปรดักต์โปรแกรม” อุ้มลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ยันพร้อมช่วยปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวยอมรับกลุ่มโรงแรมต้องยาว 10-15 ปี

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน ผ่าน 2 ส่วน

รณดล นุ่มนนท์

คือ 1.การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และลูกหนี้รายย่อย และ 2.การแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ มาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ทั้งการขยายวงเงินสินเชื่อ เพิ่มการค้ำประกันและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง micro-SMEs และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ เปิดยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2564 นอกจากนี้ยังการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยเป็นการชั่วคราวด้วย

สำหรับการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน ธปท.ต้องการให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว โดยเน้น 4 ประการคือ มองยาว ทำกว้างครอบคลุมลูกค้า ตรงจุดเหมาะกับอาการ และเป็นธรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (moral hazard) ซึ่ง ธปท.จะผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้และตั้งสำรองหนี้ ตามความเข้มข้นของแนวทางช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ธปท.ได้ให้แบงก์จัดส่งรายงานความช่วยเหลือลูกหนี้ และเร่งจัดทำทางเลือกการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (product program) เพื่อช่วยลูกค้า

“จะมีการติดตามประเมินผลว่าโปรดักต์โปรแกรมที่ออกมาจะตอบโจทย์ลูกหนี้ตามที่ ธปท.ต้องการหรือไม่ โดยการให้แบงก์ส่งรายงานว่าการปรับโครงสร้างหรือมาตรการช่วยเหลือ และถ้ามีอะไรที่เป็นอุปสรรค ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอดทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว อยากเห็นการจ่ายช่วงต้นต่ำ ๆ และทยอยเพิ่มขึ้นตามรายได้ของลูกหนี้ และหากกรณีปรับโครงสร้างหนี้ยาว เช่น 10-20 ปี เราก็จะมาพิจารณาเกณฑ์การจัดชั้นอีกครั้งหลังจากเรายืดหยุ่นถึงปี 2566”

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารแต่ละแห่งจะไปจัดทำทางเลือกการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่มให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของลูกหนี้ และติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด

โดยจะมีการสื่อสารกับพนักงานสาขาและฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการติดต่อลูกค้าโดยจะมีการส่งข้อมูลรายงานให้ ธปท.ถึงการช่วยเหลือลูกค้าแต่ละประเภทอย่างชัดเจน


“ตอนนี้ แบงก์เตรียมร่างโปรดักต์โปรแกรมไว้แล้ว โดยลูกค้าเองก็สามารถติดต่อธนาคารได้เลย ทั้งนี้ เราคงไม่มีเพดาน ว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ยาวกี่ปี เพราะลูกค้าแต่ละรายมีอาการไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มโรงแรมอาจต้องยาว 10-15 ปี ซึ่งจะต้องดูความยั่งยืนในแต่ละมิติ”