ดอลลาร์อ่อนค่าหลังประธานเฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย จับตาตัวเลขจ้างงานวันศุกร์นี้

Baht-ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (30/8) ที่ระดับ 32.53/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 32.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลหลักหลังจากตลาดผิดหวังจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นายเจอโรม พาวเวลล์ ในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง

โดยถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ได้ระบุว่ามีแนวโน้มที่เฟดจะปรับลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐตามนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในช่วงสิ้นปีนี้ ในถ้อยแถลงยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ นำโดยการจ้างงานที่เข้าสู่เสถียรภาพช่วงเวลาเหมาะสมที่จะปรับลด QE จะอยู่ในช่วงสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในถ้อยแถลงดังกล่าว ไม่มีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ทำให้ตลาดและนักลงทุนผิดหวังกับการส่งสัญญาณดังกล่าว เนื่องจากคาดหวังว่าเฟดจะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินได้รวดเร็วและชัดเจนกว่านี้ ซึ่งนอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังออกมาไม่สู้ดี โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 61.1 ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 63.4 ในเดือน ก.ค.

นอกจากนี้ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 374,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 613,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้นักลงทุนยังจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราการว่างงานของสหรัฐที่จะออกในคืนวันศุกร์ (3/9) เพื่อประเมินแนวทางการปรับนโยบายของเฟดต่อไป โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะออกมาที่ระดับ 750,000 ตำแหน่ง และ 5.2% ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปทำระดับแข็งค่าที่สุดในช่วงวันพุธ (1/9) ที่ระดับ 31.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ รับข่าวการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หลังตัวเลขการแพร่ระบาดรายวันของโรคโควิด-19 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดในวันศุกร์ (3/9) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 14,653 ราย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 15,000 ต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 4 โดยคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พิจารณาให้ความเห็นชอบผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตามที่ ศบค.ชุดเล็กเสนอ

โดยที่ประชุมเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป

ในระหว่างสัปดาห์ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยมูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมขยายตัว 21.7% สอดคล้องกับด้านนำเข้าที่ขยายตัว 36.6% อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงแสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอาจส่งผลให้เกิดปัญหา Supply Disruption ในอนาคต ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์หลังค่าเงินบาทมแรงซื้อมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ก่อนจนปรับตัวแข็งค่าสู่ระดับแข็งค่าที่สุดในวันพุธ (1/9) หลังจากนั้นค่าเงินบาทจึงได้ทยอยอ่อนค่ากลับจากแรงเทขายทำกำไรรวมถึงแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและการประท้วงของผู้ชุมนุม ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.21-32.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 32.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร (30/8) ที่ระดับ 1.1802/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 1.1754/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรปับตัวแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังออกมาค่อนข้างไร้ทิศทาง โดยวันจันทร์ (30/8) ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซนปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 117.5 เดือนสิงหาคม ลดลงจากระดับ 119.0 ในเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ในรายงานระบุว่ามุมมองเชิงบวกต่อหลายภาคธุรกิจปรับตัวลง โดยเฉพาะในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์จากผลกระทบโควิด-19 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศฝรั่งเศสขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ในไตรมา 2 สูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 0.9% นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนสิงหาคม ที่เป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อของยุโรป ออกมาที่ระดับ 3.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเพียง 2.7% ทั้งนี้ค่าเงินยูโรได้รับสัญญาณเชิงบวกเพิ่มเติม หลังนักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประกาศปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค.นี้

โดยนักวิเคราะห์มองว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก่อนสิ้นปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ ECB จะประกาศปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1785-1.1883 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 1.1875/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (30/8) 109.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/8) ที่ระดับ 110.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินเยนแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยวันจันทร์ (30/8) รัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เนื่องจากภาคผู้บริโภคยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการใช้จ่าย ประกอบกับรายงานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นหดตัวลง 1.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับหดตัว 2.5% ในเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนถูกกดดันหลังนายมาซาซูมิ วากาตาเบะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นในช่วงหลังจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นก็ตาม โดยการแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นตอกย้ำกระแสคาดการณ์ที่ว่า BOJ จะยังไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในช่วงวิกฤตการณ์เช่นนี้ แม้ธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ เริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.60-110.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 109.97/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ