จับตาประชุมอีซีบี-ฟันด์โฟลว์ทำบาทผันผวนในกรอบ 32.90 บาทต่อดอลลาร์

แฟ้มภาพ

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-32.90 บาทต่อดอลลาร์ จับตาผลประชุมอีซีบี-ยอดติดเชื้อโควิด-19 ในและต่างประเทศ ชี้ ฟันด์โฟลว์เข้า-ออกเร็วกดดันค่าเงินผันผวน

วันที่ 5 กันยายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 6-10 กันยายน 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.30-32.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามยังคงเป็นตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์

นอกจากนี้ ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่อาจจะมีการส่งสัญญาณการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) และดัชนีความเชื่อมั่นของเยอรมันที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินยูโรแข็งค่า และเห็นดอลลาร์ปรับอ่อนค่าได้เล็กน้อย

ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ยังคงเห็นทิศทางไหลออก โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 สิงหาคม-3 กันยายน 64) มีไหลเข้าสุทธิ โดยตลาหุ้นซื้อสุทธิ 9,870 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิ 18,300 ล้านบาท

“ตลาดค่อนข้างผันผวน เราจะเห็นว่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงวันสองวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะตลาดเริ่มขายทำกำไร โดยขายบอนด์ตัวสั้นและยาว ซึ่งสัปดาห์หน้ายังคงเห็นโฟลว์ไหลเข้าน้อยลง ทำให้เห็นบาทกลับมาอ่อนค่าได้”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่กรอบ 32.40-32.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. ของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 7.5 แสนตำแหน่ง หากดีเกินนี้อย่างมีนัยสำคัญจะหนุนเงินดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้นได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น แต่กรณีออกมาใกล้เคียงกับที่คาดตลาดจะแกว่งตัวออกด้านข้าง


“สัปดาห์หน้าติดตามผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ ปัจจัยภายในคาดเงินบาทผันผวนต่อเนื่องตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีแนวโน้มเข้าออกเร็ว”