ธปท. ออกเกณฑ์จัดชั้น-กันสำรอง หนุนแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้แทนยืดหนี้

ธปท.

ธปท.ร่อนหนังสือเวียนแนวทางการจัดชั้นและการกันเงินสำรองลูกค้าปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทุกประเภท มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.65-31 ธ.ค.66 ชี้หากพบธนาคารปรับโครงสร้างหนี้หวังให้เข้าเกณฑ์ใหม่ สั่งเพิ่มเงินกำสำรองเพิ่มทันที ระบุอยากเห็นแบงก์ช่วยลูกหนี้ตามอาการ หวังเป็นกันชนต่อแรงกดดันความไม่แน่นอน

วันที่ 5 กันยายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินภายใต้กำกับทุกแห่ง เรื่อง แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน)

โดยหนังสือเวียนดังกล่าวได้ระบุถึง แนวทางการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสํารองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้สถาบันการเงินดำเนินการ ดังนี้

3.3.1 วิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินจัดกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบและมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็น 2 กลุ่ม โดย จำแนกตามวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

แบ่งลูกหนี้ตามความช่วยเหลือ

1.1 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยกำหนดเงื่อนไขในการช่วย ลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การลดดอกเบี้ยคงค้าง การลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective interest rate. EIR) ลดลง หรือ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตามสัญญาลดลง

หรือผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้อื่น (กรณีนี้ รวมถึงการปรับเงื่อนไขบางประการที่ให้ประโยชน์แก่ลูกหนี้ เช่น การตัดชำระเงินต้นก่อนดอกเบี้ยตาม ความเหมาะสม) การรับโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ การรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน การ ปรับลักษณะของหนี้จากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาวร่วมกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้วิธีอื่นที่ช่วยลด ภาระให้กับลูกหนี้ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับการให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้

1.2 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยการขยายระยะเวลาเพียง อย่างเดียว เช่น การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การให้ระยะเวลาปลอดหนี้เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย (grace period) รวมถึงการปรับลักษณะของหนี้จากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว

3.3.2 การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง

2.1 กรณีที่สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามข้อ 1.1) ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรองสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าว ดังนี้

การจัดชั้น ได้แก่ 1.การปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (Non-NPL) สถาบันการเงินสามารถจัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นชั้นที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ ความเสี่ยงด้านเครดิต performing หรือ stage 1) ได้ทันที โดยไม่ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากมีการระบุรายละเอียดและเงื่อนไขการจ่ายชำระหนี้ในข้อตกลงหรือสัญญา ใหม่ไว้ชัดเจน และพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้

2.การปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ด้อยคุณภาพ (NPL) สถาบันการเงินสามารถจัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นชั้น performing หรือ stage 1 ได้ หากลูกหนี้สามารถชำระเงิน ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ได้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนหรือ 3 งวดการชำระเงิน แล้วแต่ระยะเวลาใดจะนานกว่า

3.การให้สินเชื่อเพิ่มเติม (new money) เพื่อเป็นเงินทุน หรือเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินสามารถจัดสินเชื่อเพิ่มเติมเป็นชั้น performing หรือ stage 1 ได้ทันที หากพิจารณาแล้ว เห็นว่าลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ่ายชำระหนี้ตามข้อตกลงหรือสัญญาใหม่ได้

4.การพิจารณาเปลี่ยนการจัดชั้นเป็นชั้นที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (under-performing หรือ stage 2) ให้สถาบันการเงิน พิจารณาจัดชั้นลูกหนี้จากจำนวนวันค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยที่เกินกว่า 30 วัน หรือ 1 เดือน นับแต่วันถึง กำหนดชำระตามสัญญาหรือข้อตกลง

แบงก์คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงได้

3.การกันเงินสํารอง

1.ในกรณีทีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) เดิมไม่สะท้อนประมาณการกระแสเงินสดที่จะได้รับจากสินเชื่อนั้นแล้ว สถาบันการเงินสามารถใช้ EIR ใหม่ เป็นอัตราคิดคํานวณมูลค่าปัจจุบันของสินเชื่อที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้

2.กรณีที่สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามข้อ 1.2 และ ลูกหนี้อื่นที่ไม่ได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาเปลี่ยนการจัดชั้นเป็นชั้น under-performing หรือ stage 2 ให้สถาบันการเงิน แนวทางการพิจารณาการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Significant Increase in Credit Risk SICR) ตามที่กําหนดในเอกสารแนบ 1 มาใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นได้

ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับ ผลกระทบจาก COVID-19 ตามหนังสือฉบับนี้ สถาบันการเงินสามารถคำนวณผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้น (expected credit loss) จากยอดสินเชื่อคงค้างเฉพาะส่วนของวงเงินที่เบิกใช้แล้ว โดยไม่ต้องคํานวณผลขาดทุนดังกล่าวสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (urused credit Unie)

สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุในข้อ 3.3.1 สถาบันการเงินสามารถนำหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองตามข้อ 3.3.2 ของหนังสือฉบับนี้มาถือปฏิบัติกับลูกหนี้รายดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566

โดยในระหว่างปี 2564 สถาบันการเงินยังคงสามารถถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ การจัดชั้นและการกันเงินสำรองตามหนังสือที่ ธปท.ฝน.. (23). 276/2563 เรื่อง แนวทางในการให้ ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ได้

สั่งเพิ่มเงินสำรองทันทีหากเข้าข่ายผิดเกณฑ์

อย่างไรก็ดี ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ขอให้สถาบันการเงินคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับเป็นหลัก โดยหาก ธปท. เห็นว่า สถาบันการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายใดเพื่อให้เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติตามหลักการจัดชั้นและการกัน เงินสำรองตามข้อ 3.3.2 (1) โดยไม่ได้เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างแท้จริง ธปท. อาจสั่งการให้สถาบันการเงิน กันเงินสำรองเพิ่มเติม หรือปรับการจัดประเภทลูกหนี้จากวิธีตามข้อ 3.3.1 (1) เป็นวิธีตามข้อ 3.3.1 (2) ได้

นอกจากนี้ สำหรับลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ SMEs ตามการจัดประเภทลูกหนี้ ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ไม่สามารถ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สถาบันการเงินสามารถลงการจัดชั้น ให้กับลูกหนี้ดังกล่าวได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอใน การพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องไม่ถือว่าช่วงระยะเวลาของการจัดชั้นในระหว่างการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นเหตุแห่งการผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญา และไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราผิด หรือเรียกเก็บค่าบริการ เบี้ยปรับ หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติม จากลูกหนี้ได้

ธปท. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจจะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้สอดคล้องและทันการณ์กับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะช่วยเป็นกันชน (Cushion) ให้ลูกหนี้ต่อแรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านต่างๆ และส่งผลให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และลูกหนี้สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน