ความขัดแย้ง “จีน อินเดีย” หัวเลี้ยวหัวต่อความร่วมมือของภูมิภาค

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และเกาหลีเหนือที่ทั่วโลกให้ความสนใจและเฝ้าระวังถึงสถานการณ์ที่อาจลุกลามบานปลายจนส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ยังมีอีกหนึ่งความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดีย จากการที่กองทัพของทั้งสองประเทศต่างตรึงกำลังและเผชิญหน้ากันบริเวณที่ราบสูงดอกลัม (Doklam) พื้นที่ทับซ้อนบริเวณชายแดนของจีน อินเดีย และภูฏาน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา หลังจากที่จีนได้เริ่มโครงการขยายถนนเข้าไปยังบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งแม้ความขัดแย้งในครั้งนี้จะยังไม่ลุกลามบานปลายจนนำไปสู่การปะทะที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อทิศทางการค้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จีนและอินเดียถือเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของเศรษฐกิจเอเชีย และมูลค่าส่งออกของทั้งสองประเทศรวมกันราว 40% ของมูลค่าส่งออกรวมของเอเชีย ทำให้จีนและอินเดียถือเป็นทั้งตลาดและฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค และถูกคาดหวังให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญที่จะช่วยยกระดับบทบาททางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียให้ก้าวขึ้นทัดเทียมชาติมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งความขัดแย้งในครั้งนี้อาจกระทบความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาค และอาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ในบางประเด็น ได้แก่ ความตกลง RCEP อาจต้องล่าช้าออกไป

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะรวมเศรษฐกิจของชาติสมาชิกในเอเชียและแปซิฟิกทั้ง 16 ชาติให้แน่นแฟ้นขึ้น ผ่านการเปิดเสรีที่ครอบคลุมทั้งในมิติด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน โดยมีเป้าหมายที่จะเริ่มเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าให้ได้ภายในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเจรจายังมีอุปสรรคบางประการ โดยเฉพาะการเจรจาประเด็นของการลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างจีนและอินเดียที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียในรอบนี้อาจยิ่งเพิ่มความยากลำบากในการเจรจาด้านการค้าระหว่างยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดียภายใต้กรอบ RCEP ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าความตกลง RCEP อาจยังไม่สำเร็จได้ในระยะเวลาอันใกล้ One Belt One Road อาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

โครงการ One Belt One Road ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 5 ปี ในช่วงปี 2559-2563 โดยจีนเป็นผู้ริเริ่มโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งระหว่างภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปและแอฟริกา เข้าไว้ด้วยกัน ครอบคลุมเส้นทางขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล โดยหนึ่งในเส้นทางสำคัญภายใต้แผน OBOR ได้แก่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ บังกลาเทศ จีน อินเดีย เมียนมา (Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor : BCIM-EC) ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับโครงการต่าง ๆ ของ OBOR เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน

ซึ่งแน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียในครั้งนี้ย่อมกระทบต่อแผนการก่อสร้างของ BCIM-EC ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการที่อินเดียต่อต้านการเข้ามาสร้างถนนของจีนบริเวณแนวชายแดนครั้งนี้ อาจเป็นการแสดงออกถึงท่าทีต่อต้านโครงการ OBOR ของอินเดีย ซึ่งอินเดียมองว่าโครงการดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่จีนนำมาใช้เพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย

แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียจะเริ่มผ่อนคลายลงบ้างภายหลังการเจรจาของผู้นำทั้งสองประเทศที่ให้มีการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ในเบื้องลึกแล้วความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมหาอำนาจดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือและทิศทางการค้าการลงทุนต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK