ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐต่ำกว่าคาด

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐต่ำกว่าคาด ขณะที่ปัจจัยในประเทศนักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังตัวเลขเริ่มลดลงต่อเนื่อง ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 32.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/9) ที่ระดับ 32.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 32.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 720,000 ตำแหน่ง หลังจากพุ่งขึ้น 1,053,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 5.2% ในเดือนสิงหาคมสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากแตะระดับ 5.4% ในเดือนกรกฎาคม ส่งผลทำให้บรรดานักลงทุนคาดว่า ตัวเลขจ้างงานที่ซบเซาจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดยังไม่พิจารณาประกาศปรับลดวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 กันยายนนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศปรับตัวลดลงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,988 ราย

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจในวันนี้ (6/9) มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม พบว่าปรับตัวลดลง -0.20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.34% โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.37-32.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (6/9) ที่ระดับ 1.1879/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 1.1874/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของเยอรมนีในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4% โดยยอดคำสั่งซื้อโรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ -1.0%

อย่างไรก็ตาม บรรดานักลงทุนยังคงจับตาดูผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้ ซึ่งนักลงทุนคาดว่า ECB จะประกาศปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ในการประชุมดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1863-1.1885 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1864/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/9) ที่ระดับ 109.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 109.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศญี่ปุ่นนั้น ล่าสุดกำลังเตรียมจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) คนใหม่ หลังจากที่นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้แสดงความประสงค์ที่จะลาออกจากตำแหน่ง หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับความล้มเหลวในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดที่ผ่านมา

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.7-109.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.88/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเดือนกันยายน (7/9), ดัชนีจีดีพีไตรมาส 2 ของญี่ปุ่น (8/9), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTs เดือนกรกฎาคม (8/9), การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของ ECB (9/9), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (9/9), ดัชนีจีดีพีไตรมาส 2 ของสหราชอาณาจักร (10/9), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ เดือนสิงหาคม (10/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.15/+0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.0/1.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ