ดอลลาร์อ่อนค่า หลังโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.46-32.64 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 7 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/9) ที่ระดับ 32.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงตัว จากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/9) ที่ระดับ 32.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ โดยคาดว่าชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายน้อยลงในช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาดอย่างหนัก

นายรอนนี วอล์คเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยในรายงานคาดการณ์ล่าสุดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 5.7% ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 6% นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราว่างงานของสหรัฐในปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 4.2% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.1%

การปรับทบทวนตัวเลขคาดการณ์ของโกลด์แมน แซคส์มีขึ้น หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 720,000 ตำแหน่ง และน้อยกว่าเดือน ก.ค.ที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 1,053,000 ตำแหน่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ USA Today เมื่อวันจันทร์ (6 ก.ย.) ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในสหรัฐพุ่งขึ้น 316% นับตั้งแต่วันแรงงานในปี 2563 และอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งขึ้น 158% เมื่อเทียบกับช่วงวันหยุดแรงงานเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น กำลังทำให้รัฐต่าง ๆ ทั่วสหรัฐขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก สำหรับระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.46-32.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (7/9) ที่ระดับ 1.1880/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/9) ที่ระดับ 1.1859/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังสำนักงานสถิติของรัฐบาลเยอรมนี (FSO) เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มจัดทำข้อมูลเมื่อปี 2534 ขานรับดีมานด์อันแข็งแกร่งในหมู่ผู้ซื้อต่างชาติ

ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นสวนการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งคาดว่าจะหดตัวลง 1.0% บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มสดใส โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1860-1.1885 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1872/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/9) ที่ระดับ 109.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/9) ที่ระดับ 109.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่า หลังกระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนถือเป็นดัชนีชี้วัดการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนญี่ปุ่น ทางด้านกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไตรมาส 2/2564 ดีดตัวขึ้น 5.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.68-110.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมันเดือนกันยายน (7/9), ดัชนีจีดีพีไตรมาส 2 ของญี่ปุ่น (8/9), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTs เดือนกรกฎาคม (8/9), การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของ ECB (9/9), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (9/9), ดัชนีจีดีพีไตรมาส 2 ของสหราชอาณาจักร (10/9), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ เดือนสิงหาคม (10/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.5/+0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.17/+0.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ