กรุงไทย ชี้ ธปท. จ่อหั่นจีดีพีเหลือ 0.5% รอบประชุมกนง. 29 ก.ย.นี้ 

เศรษฐกิจ-GDP

ธนาคารกรุงไทย มองธปท.หั่นจีดีพีปี 64 เหลือ 0.4-0.5% ในรอบการประชุมกนง.29 ก.ย.นี้ พิษโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าระบาดกลุ่มโรงงาน-ภาคการผลิตต่ำ กระทบพระเอกภาคการส่งออก-การบริโภคยังไม่ฟื้น เผยมีโอกาสหั่นดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หลังคณะกรรมการเสียงแตกครั้งแรกในรอบปี ระบุหากลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท 

วันที่ 9 กันยายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวในงาน “จับทิศทางประชุมกนง. Cut or Hold” ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ธนาคารมีมุมมองว่า ธปท.จะมีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงจากคาดการณ์ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาจากระดับ 0.7% จากเดิมอยู่ที่ 1.8% มาอยู่ที่ระดับ 0.4-0.5% ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการของธนาคารกรุงไทยที่ประเมินไว้ 0.5% และขยายตัว 3% ในปี 2565 

ทั้งนี้ สาเหตุหลักการปรับประมาณการจีดีพีลงของธปท. มองว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้าการประเมินสายพันธุ์เดลต้ายังไม่ได้ระบาด และทั่วโลกยังไม่ได้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเหมือนในปัจจุบัน จึงมองว่าความเสี่ยงที่ธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจลงยังคงมีอยู่ ทั้งในส่วนของความเสี่ยงภาคการส่งออก ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณความต้องการลดลลงจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในกลุ่มโรงงาน และในต่างประเทศผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าชะลอตัวลง สะท้อนจากการจ้างงานที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาซัพพลายเชน ส่งผลให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบ ซึ่งจากเดิมธนาคารประเมินการเติบโตจะอยู่ที่ 15-16% ได้ปรับลดลงเหลือเพียง 12% 

ขณะที่การบริโภคเอกชนที่มีสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คนมีรายได้ลดลง แต่ภาระหนี้สินเท่าเดิม แม้จะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือก็ตาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายครัวเรือน สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น การใช้จ่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะในสินค้าคงทนยังจะไม่กลับมา รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หากเทียบในต่างประเทศก่อนจะมีการล็อกดาวน์สัดส่วนอัตราการพบเชื้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 7% แต่ไทยอัตรายังอยู่สูงถึง 30% และอัตราการติดเชื้อยังสูงถึง 80% ของจุดพีก เมื่อเทียบประเทศอินเดียอยู่ที่ 10% หรือสหรัฐฯ อยู่ที่ 40% ดังนั้น คาดว่าภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้าไทยอาจเจอการระบาดระลอกใหม่ได้

“จุดที่ต้องติดตาม คือ การระบาดในโรงงาน และดัชนีภาคการผลิตที่ลดลง เช่น กลุ่มรถยนต์ที่ลดลงชัดเจน ซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกที่เรามองว่าเป็นพระเอกในปีนี้ แม้ว่าความต้องการสินค้าในกลุ่มสหรัฐฯ และยุโรปอาจจะยังมีอยู่ แต่เราก็เจอปัญหาท่าเรือ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อการส่งออกเช่นเดียวกัน ดังนั้น จากความเสี่ยงดังกล่าวธปท.มีโอกาสปรับประมาณการจีดีพีลงเหลือ 0.4-0.5% เพราะเรามีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากรอบการประชุมครั้งที่แล้ว” 

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย ทีม Investment and Markets Research ธนาคารกรุงไทย กล่าวเสริมว่า การประชุมกนง.ในรอบวันที่ 29 ก.ย.นี้ มองว่า โอกาสที่จะเห็นกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีมากขึ้น เพราะจะเห็นว่าการประชุมในรอบเดือนส.ค.ที่ผ่านมามีคณะกรรมการ 2 ท่านที่มีการโหวตให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ซึ่งมติการโหวตครั้งนี้ถือเป็นการครั้งที่มีเสียงแตก ภายหลังจากการประชุมที่ผ่านมาในรอบ 1 ปี จะพบว่ามติเสียงส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 7 ต่อ 0 ทำให้การประชุมรอบถัดไปว่าคณะกรรมการที่โหวตให้คงอัตราดอกเบี้ย 4 ท่าน จะกลับมาโหวตให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี มองว่าหากธปท.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ครั้งนี้ จะช่วยส่งผ่านต้นทุนที่ปรับลดลงไปยังลูกหนี้ได้ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท โดยคำนวณจากตัวเลขที่ธปท.เปิดเผยในช่วงที่มีการลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงเหลือ 0.23% จาก 0.46% พบว่ามีลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้ประโยชน์ 6 ล้านล้านบาท จากยอดสินเชื่อรวม 12-13 ล้านล้านบาท โดยครั้งนี้มีการปรับดอกเบี้ยอาร์พีลง 0.25% จะส่งผลต่อลูกหนี้ที่ใช้สินเชื่อดอกเบี้ยตระกูล M เช่น สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบ้าน และอื่นๆ ได้ลดภาระดอกเบี้ยถึง 1.5 หมื่นล้านบาท