หุ้นไทยปรับตัวลงก่อนขึ้นทีหลัง ลุ้นผลประชุม ศบค.-ระวังขัดแย้งการเมือง

หุ้นไทย-set

ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวลักษณะลงก่อนขึ้นทีหลังในกรอบระหว่าง 1,620-1,640 จุด ปัจจัยกดดันหลักวันนี้มาจากความขัดแย้งการเมืองภายในประเทศที่ต้องจับตาพัฒนาการใกล้ชิด ลุ้นเกิดเทคนิคอลรีบาวนด์บนความคาดหวังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ กลยุทธ์ลงทุน “ซื้อสะสม” หุ้นเปิดเมืองที่ราคา Laggard กลุ่ม-เก็งกำไรระยะสั้นจบในรอบจากเงินบาทอ่อนค่า

วันที่ 10 กันยายน 2564 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า คาดดัชนี SET Index เช้านี้ปรับตัวลงต่อจากเมื่อวานเล็กน้อย โดยปัจจัยกดดันหลักวันนี้จะมาจากประเด็นการเมืองภายในประเทศที่ต้องจับตาพัฒนาการใกล้ชิด แต่เป็นไปได้ที่จะเกิดเทคนิคอลรีบาวนด์ที่บริวณแนวรับ 1,620-1,625 จุด บนความคาดหวังจากการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ เกี่ยวกับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการผ่อนคลายระยะถัดไป

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศมองเริ่มคลายกังวลหลังผ่านพ้นการประชุม ECB แม้ส่งสัญญาณความยืดหยุ่นในการทยอยปรับลดการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) แต่ยังคงวงเงินรวมและกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการตามเดิม โดยรวมจึงมองวันนี้ SET Index จะแกว่งตัวออกข้างในลักษณะลงก่อนขึ้นทีหลังในกรอบระหว่าง 1,620-1,640 จุด

กลยุทธ์การลงทุนยังมอง “ซื้อสะสม” หุ้นเปิดเมืองที่บริเวณแนวรับหรือที่ราคายัง Laggard กลุ่ม และเก็งกำไรระยะสั้นจบในรอบจากเงินบาทอ่อนค่า

โดยสำหรับผลการประชุม ECB ที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 0% และมองว่ายุโรปยังรักษาเสถียรภาพของเงินเฟ้อได้ดีตามเป้าระยะกลางที่ 2 ขณะเดียวกันได้ส่งสัญญาณความยืดหยุ่นในการปรับลดการเข้าซื้อพันธบัตรรายเดือนในโครงการ PEPP ก่อนยุติโครงการในเดือน มี.ค. 65 ตามกำหนดเดิม ทั้งนี้ผลสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่าจะมีการปรับลดการเข้าซื้อรายเดือนจากเดิม 8 หมื่นล้านยูโรเหลือเพียง 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และจะปรับลดอีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า

ส่วนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ ติดตามประเด็น 1.การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปลี่ยนไปใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ตามอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมรองรับการเปิดประเทศในเดือน ต.ค. 64 และ 2.การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มระยะ 2 เบื้องต้นคาดว่า ศบค. จะปรับลดพื้นที่สีแดงเข้มลงแต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรการเคอร์ฟิว

ส่วนการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงปานกลาง อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยมองว่ากิจการและกิจกรรมในระยะนี้มีความน่าสนใจน้อยกว่าระยะที่ 3 ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนนำกิจการ กิจกรรมในระยะที่ 3 มาผ่อนคลายบางส่วนในระยะที่ 2 ตลาดน่าจะตอบรับเชิงบวกมากขึ้น

และ 3.มาตรการกระตุ้นเศษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค ที่ชะลอตัวไปจากการ Lockdown ช่วงที่ผ่านมาเพื่อผลักดันเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วในไตรมาสสุดท้ายปีนี้

ระวังปัจจัยแทรกทางการเมือง 1.วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ซึ่งขณะเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส ก็แถลงลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน หลังมีข่าวความขัดแย้งในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ทำให้ต้องกลับมาจับตาปัจจัยการเมืองอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการย้ายชั่ว สลับข้าง เสถียรภาพของรัฐบาลอาจไม่มั่นคง และ 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มมีสัญญาณไม่ดีหลังวุฒิสภาและพรรคเล็กบางส่วนแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยในการใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และจะลงคะแนน “งดออกเสียง” ในวาระที่ 3 ซึ่งหากได้เสียงวุฒิสภาไม่ถึง 1 ใน 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจล้มไปอีกครั้ง เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ได้