คุยเปิดอก “สารัชต์ รัตนาภรณ์” ไทยพาณิชย์จัดยาตามอาการอุ้มลูกหนี้

สัมภาษณ์

สถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมานานเกือบ 2 ปี ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน และภาคธุรกิจทำให้ขาดสภาพคล่อง เพราะรายได้หดหายส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมมีผลกระทบมาถึงสถาบันการเงินในฐานะผู้ให้กู้ด้วย โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงิน สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เต็มที่มากขึ้น เป็นการพยุงลูกหนี้ให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤตรอบนี้ไปด้วยกัน

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีได้พูดคุยกับ “สารัชต์ รัตนาภรณ์” ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ฉายภาพสิ่งที่แบงก์กำลังเผชิญและต้องรับมือต่อไปท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่มีจุดจบ

ขานรับ ธปท. พยุงลูกหนี้

โดย “สารัชต์” กล่าวว่า ขณะนี้ไทยพาณิชย์ก็อยู่ระหว่างจัดทำทางเลือกการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (product program) ตามมาตรการที่ออกมาช่วยลูกหนี้ โดยการปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะยาวมากขึ้นล่าสุดของ ธปท. รวมถึงมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยลูกหนี้รายย่อย

“หลังจาก ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ ตอนนี้เราอยู่ระหว่างจัดทำ product program เพื่อช่วยเหลือ ทั้งในส่วนลูกหนี้รายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และรายใหญ่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ยามีหลายตัว จึงต้องเลือกเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย”

ยันช่วยประคองธุรกิจโรงแรม

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักนั้น “สารัชต์” กล่าวว่า ยอมรับว่า พอร์ตธุรกิจโรงแรมของธนาคารไทยพาณิชย์มีอยู่ค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีสินเชื่อคงค้างกลุ่มนี้ราว 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือธนาคารเกือบทั้งหมด และช่วงที่ผ่านมาธนาคารก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือมีหลายมาตรการ หรือมียาหลายตัว จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับอาการของลูกค้า เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว หรือ “พักทรัพย์ พักหนี้” ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ธนาคารเสนอให้กับลูกค้าที่ต้องการจะเข้าโครงการ แต่การตัดสินใจ ก็จะขึ้นอยู่กับลูกค้าและความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละรายด้วย จึงไม่ใช่ว่าลูกค้าโรงแรมทั้งหมดจะเข้าพักทรัพย์ พักหนี้กันหมด เพราะบางรายอาจจะเหมาะการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

“ต้องยอมรับว่ากลุ่มโรงแรมได้รับผลกระทบจากโควิด จะบอกว่าไม่มีผลกระทบเลยไม่ได้ แต่ยาที่จะช่วยมีหลายตัว ตั้งแต่ warehousing หรือการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว คือ การยืดหนี้ออกไป ซึ่งเราก็คุยกับลูกค้า ว่าเขาจะเลือกยาแบบไหน”

มาตรการ ธปท.ช่วยสกัดหนี้เสีย

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระยะต่อไปนั้น “สารัชต์” กล่าวว่า คงบอกไม่ได้ว่าหนี้เสียจะไม่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 แต่จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาคุณภาพหนี้เสียของระบบไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เศรษฐกิจ-ธุรกิจ” ฟื้นไม่เท่ากัน

“สารัชต์” กล่าวด้วยว่า ในระยะข้างหน้า สินเชื่อจะสามารถฟื้นกลับมาเร็วหรือช้านั้น จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วมากน้อยขนาดไหน ซึ่งจากเดิมมองกันว่าจะกลับมาได้เร็ว แต่หลังจากมีการระบาดระลอก 3 การฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลา แต่ภาพรวมการฟื้นตัวในแต่ละเซ็กเตอร์อาจจะไม่เท่ากัน เช่น กลุ่มโรงแรมและบริการ (hospitality industry) ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก และยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือต่อไป

ขณะที่กลุ่มอิงเศรษฐกิจภายในประเทศ (domestic) จะฟื้นตัวเร็วกว่ากลุ่มอื่น เช่น ก่อสร้าง ยังคงไปได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการปิดแคมป์คนงานช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนหากเป็นกลุ่มที่พึ่งพาต่างชาติ อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก

พร้อมหนุน “ฟื้น-รีสตาร์ต” ธุรกิจ

อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว หากธุรกิจกลุ่มใดมีความต้องการลงทุนใหม่ หรือต้องการรีสตาร์ตธุรกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ธนาคารก็มีความพร้อมในการช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อ แม้ว่าตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.ได้ แต่ธนาคารพร้อมให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าอย่างเต็มที่

“ถ้าเศรษฐกิจกลับมา เราก็พร้อมช่วยลูกค้ารีสตาร์ตธุรกิจ ซึ่งในระหว่างทาง แนวโน้มการเติบโตสินเชื่อใหม่อาจจะไม่มาก เพราะเราก็ไม่ได้เน้นเรื่องการเติบโตสินเชื่อแบบก้าวกระโดด แต่กลุ่มไหนที่ยังมีความต้องการ เราก็พร้อมปล่อย เช่น สินเชื่อบ้านที่ยังคงเห็นการขอสินเชื่ออยู่ และไปได้ดี หรือรายใหญ่”

แบงก์ปรับตัวรุกธุรกิจเวลท์

ในแง่ผลกระทบต่อรายได้ของแบงก์จากวิกฤตโควิดนั้น “สารัชต์” ยอมรับว่า รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะสินเชื่อไม่โต ซึ่งธนาคารได้มีการปรับตัว โดยหันมาเน้นธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) 
ที่มีอัตราการเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยมีอัตราการเติบโตในแง่ของรายได้ประมาณ 20-30% และจากการรวมกับ “เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต” (FWD) ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ คาดว่าจะเข้ามาช่วยพยุงในเรื่องผลประกอบการของไทยพาณิชย์ในปีนี้ได้

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการปรับโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานผ่านการลดค่าใช้จ่ายในบางส่วนลง ซึ่งที่ผ่านมาทำได้ค่อนข้างดี อาทิ การปรับลดสาขาจากอดีตที่อยู่ 1,200 สาขา ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 800 แห่ง โดยการปรับลดจะพิจารณาจากปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้น และหันไปสนับสนุนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันจะพบว่าลูกค้าได้หันมาใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้งที่เพิ่มขึ้น 60-70% ขณะที่ใช้บริการช่องทางสาขาเหลือเพียง 20% เท่านั้น

ย้ำแบงก์ไทยแกร่งรองรับวิกฤต

ส่วนสถานะแบงก์ไทยภายใต้สถานการณ์โควิดนั้น “สารัชต์” ยืนยันว่า ภาพรวมธุรกิจแบงก์ในช่วงที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันยังคงมีความแข็งแกร่งและแข็งแรง สามารถรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ สะท้อนจากฐานเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ทั้งระบบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด


“ระบบแบงก์ยังมีกระสุนที่สามารถช่วยเหลือลูกค้าและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนนี้” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว