สมาคมธนาคารไทย เร่งพัฒนาเทคโนโลยี แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเบ็ดเสร็จ

ลูกหนี้-NPL-SMEs-หนี้เสีย

สมาคมธนาคารไทย เปิด 4 ทีม ขับเคลื่อนสถาบันการเงินไทย เน้นพัฒนาระบบเทคโนโลยี แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน คาดแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปีหน้า พร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยได้มีการทบทวนวิสัยทัศน์แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของอุตสาหกรรมภาคธนาคารพาณิชย์ โดยปรับให้สอดคล้องบริบทของสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เน้นการเติบโตยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพท่ามกลางแรงกดดันและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นระบบการเงิน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคน โดยขับเคลื่อนทั้งหมด 4 ทีม

ผยง ศรีวณิช
ผยง ศรีวณิช

1.ตอบโจทย์ความยั่งยืน (Sustainability) โดยภาคธนาคารมีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องตัวชี้วัดและไทม์ไลน์ที่จะดำเนินการ และร่วมตอบโจทย์การเข้าถึงการบริการทางการเงินแบบเท่าเทียมกัน และการร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยร่วมให้ความรู้ ให้โอกาสพัฒนาการ การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์มากกว่าข้อมูลเดิม ๆ ในอดีต สามารถนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น พฤตติกรรมการใช้น้ำ และไฟ มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้

โดยการดูภาระหนี้ของลูกหนี้จะพยายามดูให้ครบ ทั้งหนี้ในระบบของสถาบันการเงิน น็อนแบงก์ รวมทั้งหนี้สหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาให้แบบเบ็ดเสร็จ ผลักดันไม่ให้มีช่องว่างกฎระเบียบ และให้ความรู้ นำไปสู่การรวมหนี้ของประชาชน เป็นต้น โดยจะทำให้มีประสิทธิผลกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ยั่งยืน และไม่สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้กับระบบ หรือนำไปสู่ Moral Hazard รวมทั้งสร้างแพลตฟร์อมการเงินให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงบริการทางการเงินสะดวก และมีต้นทุนที่เป็นธรรม โดยอยู่ระหว่างการร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“สมาคมกำลังเร่งทำระบบ e-invoice หมายความว่าในอนาคตกิจกรรมการซื้อขายเมื่อเกิดทรานเซ็กชั่นมา สามารถนำกิจกรรมทางการค้าเข้ามาเปลี่ยนสภาพคล่องแทนเงินสดได้ทันเวลา และต้นทุนที่เป็นธรรม นอกเหนือจากเพย์เมนต์อื่น ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กำลังทำอยู่ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และสมบูรณ์ในไตรมาส 1-2 ของปี 2565”

2.การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยจะเร่งสร้างพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นพื้นฐานระบบทางการเงิน เพื่อให้สามารถต่อยอดได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบไทยแลนด์สมาร์ท อินฟราซักเจอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการร่วมผลักดันร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังรวมถึงระบบการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลและอื่น ๆ เป็นต้น

“จุดเปลี่ยนผันปัจจุบันที่สำคัญคือ ไทยแลนด์สมาร์ท อินฟราซักเจอร์ ซึ่งทุกธุรกรรมที่มีการโอนเงินจะเรียกว่าเป็น ดิจิทัลมันนี่ หรืออิเล็กทรอนิกส์มันนี่ก็ตาม ข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจกรรมการค้าขายสามารถส่งผ่านได้เลย เช่น บิลเรียกเก็บเงิน รวมทั้งใบกำกับภาษี ซึ่งส่วนนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งจะทำให้ตอบโจทย์อินฟราซักเจอร์ในอนาคต และตอบโจทย์ของระบบเศรษฐกิจในประเทศ”

ทั้งนี้ ซึ่งจะต้องมีการร่วประสาน ธปท. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการวางกรอบมาตรฐานโครงสร้างในการสนับสนุน Open Banking ให้เกิดการต่อยอดการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการในส่วนของแบงก์พาณิชย์ และน็อนแบงก์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งภัยคุกคามให้ปลอดภัย ทั้งระบบธนาคารเอง และความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งผู้บริโภค

3.ผลักดันให้ระบบการเงินของไทยเป็นผู้นำในระบบภูมิภาค โดยเฉพาะ CLMV ซึ่งการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงิน รวมทั้งจะมีการผลักดันระบบ CPDC ให้สามารถมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบการเงินของภูมิภาคได้ โดยอยู่ระหว่างร่วมผลักดันร่วมกับ ธปท. ซึ่งจะเป็นการต่อยอดจาก e-money ที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

4.ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลในการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะเสริมสร้างทักษะที่จะเปลี่ยนไปมาก ในส่วนของ Thailand Next เพื่อให้ตอบโจทย์และสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อไป

“ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการร่วมมือปรับกระบวนทัศน์เพื่อขับเคลื่อนไปในอนาคต โดยพยายามเปลี่ยนจุดยืนของประเทศ จากผู้วิ่งตาม เป็นผู้วิ่งนำอย่งาก้าวกระโดด ต่อยอดจากสิ่งที่เรามีศักยภาพอยู่แล้ว เช่น อาหาร เกษตร เทคโนโลยีชีวิภาพ การแทพย์ และการผลักดันสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีมากขึ้น และเป็นการดูแลคุณภาพชีวิตคนส่วนใหญ่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”