ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ สูงขึ้นกว่าคาดการณ์

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ สูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.76-32.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/9) ที่ระดับ 32.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 32.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุน หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือน พ.ย. 2553 หลังจากดีดตัวขึ้น 7.8% ในเดือน ก.ค.

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 6.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือน ส.ค. 2557 โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.76-32.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (13/9) ที่ระดับ 1.1806/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 1.1842/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังคงถูกดดันหลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ยืนยันในสัปดาห์ก่อนว่า การส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการ PEPP ไม่ได้หมายความว่า ECB กำลังถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินมานับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังระบุว่า ECB เชื่อว่าแรงกดดันจากค่าจ้างยังคงไม่รุนแรง และภาวะคอขวดของอุปทานจะเริ่มบรรเทาลง โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1775-1.1817 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1790/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/9) ที่ระดับ 109.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 109.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนจากการที่กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ระบุว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นในไตรมาส 3 (ก.ค-ก.ย.) กลับเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส เนื่องจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ช่วยเพิ่มความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 1 พันล้านเยน (9.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นไป ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3.3 ในไตรมาส 3 จากระดับ -4.7 ในไตรมาส 2โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.85-110.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ เดือนกันยายน (14/9), ผลผลิตอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือนสิงหาคม (15/9), ดัชนีการผลิตสหรัฐฯเดือนกันยายนจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/9), อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของยูโรโซน (17/9), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนกันยายนของสหรัฐ (17/9)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.85/+2.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ