ยกระดับ SMEs-สตาร์ตอัพ ระดมทุนตลาดทุนไทย-เพิ่มสัดส่วนต่อ GDP

ภาพ pixabay

ก.ล.ต. อ้าแขนรับ “เอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ” สู่ตลาดทุนไทย กางแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 3 กำหนดเป้าชัดเป็นแหล่งเงินทุนอีกแหล่งของ SMEs-Startups สอดรับ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” กำหนดเพิ่มสัดส่วนมูลค่าธุรกิจ SMEs ต่อ GDP เป็น 60% ภายในปี 2580 กำหนดเป้าหมายวัดอัตรามูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดทุนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10-16% ตั้งแต่ปี 2567-2580

วันที่ 14 กันยายน 2564 นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวในงานสัมมนา “LiVE Demo Day The New Road to Capital Market” ในหัวข้อพิเศษ “ตลาดทุน…ทางเลือกใหม่ของ SMEs / Startups” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า

ปัจจุบันผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งวิสาหกิจเริ่มต้น ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs) อยู่กว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานทั่วประเทศมากกว่า 12.7 ล้านคน โดยสิ้นไตรมาส 1/64 มูลค่าของธุรกิจเอสเอ็มอีมากถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP กว่า 34.7%

“ที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพในหลายด้าน โดยให้ผู้ประกอบการยุคใหม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งภายในและระดับสากลสูงขึ้น รวมทั้งสร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน” นางสาวรื่นวดี กล่าว

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวต่อว่า โดยแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ความสำคัญในการผลักดันและเพิ่มศักยภาพของเอสเอ็มอี โดยกำหนดเป้าหมายในเพิ่มสัดส่วนมูลค่าธุรกิจ SMEs ต่อ GDP เป็น 60% ภายในปี 2580 โดยแผนย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการระบุไว้ว่าต้องสร้างโอกาสให้เข้าถึงบริการทางการเงิน โดยกำหนดเป้าหมายวัดอัตรามูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดทุนของเอสเอ็มอีให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10-16% ตั้งแต่ปี 2567-2580 ซึ่งเป็นการสอดคล้องแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 3 ปี 2560-2564 ที่มีการกำหนดเป้าหมายให้ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินทุนอีกแหล่งสำหรับเอสเอ็มอีและนวัตกรรมใหม่ๆ

“เพื่อเป็นการสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ตามนโยบายภาครัฐ ตั้งแต่กลางปี 2562 สำนักงาน ก.ล.ต.ในฐานะผู้กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนได้มีการริเริ่มนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อทำให้ตลาดทุนไทยเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง(Capital Market For All) โดยมุ่งหวังให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนกิจการทุกขนาดและทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยยังคงหลักการที่สำคัญคือ ให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนให้สามารถลงทุนในตลาดทุนได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนในแต่ละประเภทได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างดียิ่ง” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

โดยตั้งแต่กลางปี 62 ก.ล.ต.ได้จัดตั้งคณะทำงาน 1 ชุดชื่อว่า “คณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้น กิจการร่วมทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน สู่ตลาดทุนไทย” เพื่อมุ่งหวังให้กิจการเหล่านี้มีโอกาสระดมทุนผ่านตลาดทุน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ตลาดหลักทรัพย์ฯ, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน เป็นต้น 

ซึ่งได้มีการรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ โดยโจทย์ที่คณะทำงานชุดนี้ได้รับมอหมายคือ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสิ่งที่ได้ค้นพบปัญหาส่วนนี้ซึ่งเป็นการดำเนินงานของ ก.ล.ต.พบว่า ที่ผ่านมาปัญหาหลักที่ทำให้เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ มีอยู่ 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ข้อจำกัดทางกฎหมาย 2.การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับตลาดทุน 

ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ออกเกณฑ์เพื่อลดข้อจำกัดทางกฎหมายเพื่อให้บริษัทจำกัดที่เป็น เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพสามารถระดมทุนได้อย่างในวงจำกัด โดยอาศัยกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์แล้ว

ส่วนการที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลตลาดทุน นั่นเป็นเพราะว่าแหล่งระดมทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินหรือครอบครัวและเพื่อนฝูง ล่าสุด ก.ล.ต.ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

“เราจะร่วมกันพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว