เอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ เข้าระดมทุนตลาดทุนไทย มูลค่ากว่า 820 ล้าน

เงินบาท-หุ้นไทย

ก.ล.ต. ส่งเสริม SMEs-startups เข้าระดมทุนตลาดทุนไทย อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ปลดล็อกระดมทุนออกหุ้น-หุ้นกู้แปลงสภาพได้ ขยายเกณฑ์เสนอขายวงจำกัดผ่านเครื่องมือ Crown funding ล่าสุดมี 69 กิจการเข้ามาใช้ มูลค่ารวม 485.90 ล้านบาท ระดมทุน SME-PP 11 กิจการ มูลค่า 221.10 ล้านบาท-Social enterprise 2 กิจการ มูลค่า 113.10 ล้านบาท รวมมูลค่าระดมทุนมนตลาดทุนไทยกว่า 820 ล้านบาท

วันที่ 14 กันยายน 2564 นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาซึ่งประกอบด้วยภาคส่วนทั้งหมด 14 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อมาช่วยระดมความคิดเพื่อมองหาปัญหาและอุปสรรคของกลุ่ม SME และ startups ในการจะเข้าถึงตลาดทุน ภายหลังจากการดำเนินการพบว่ามี 2 ปัญหาหลักที่ทำให้ SME และ startups ไม่สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ คือ 1.เรื่องกฎกติกาที่อำนวยต่อการเข้ามาระดมทุน และ 2.SME และ startups ไม่รู้ว่าตลาดทุนจะสามารถเป็นเครื่องมือในการะดมทุนได้หรือมีวีธีการอย่างไร

ในเรื่องของกฎเกณฑ์แต่เดิม SME และ startups มักจะอยู่ในแบบของบริษัทจำกัด ซึ่งตามประมวลกฏหมายแพ่งไม่อนุญาตให้ออกตราสารทั้งสองประเภท ซึ่งทาง ก.ล.ต.โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ อนุญาตให้กิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สามารถระดมทุนด้วยการออกหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพได้

ทั้งนี้หากเป็นการเสนอขายในวงจำกัดผู้ประกอบการสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องมายื่นขออนุญาตหรือเปิดเผยข้อมูล ส่วนกลุ่ม startups จะมีเครื่องมืออีกประเภทที่เรียกว่า Crown funding คือการระดมทุนแบบจำกัดวงเงินเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถระดมทุนได้

จากที่สำนักงาน ก.ล.ต.เล็งเห็นถึงปัญหาและช่วยขยายขอบเขตกฎเกณฑ์ได้สำเร็จทำให้ล่าสุด SME และ startups สามารถเข้ามาระดมทุนได้เพิ่มมากขี้น ซึ่งมีกิจการที่เข้าระดมทุนใน Crown funding 69 กิจการ มูลค่ารวม 485.90 ล้านบาท, ระดมทุนใน SME-PP 11 กิจการ มูลค่า 221.10 ล้านบาท และ Social enterprise 2 กิจการ มูลค่า 113.10 ล้านบาท ดูจากตัวเลขอาจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการระดมทุนผ่าน Set และ mai แต่สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าที่สิ่งสำนักงาน ก.ล.ต.รวมถึงภาครัฐที่ช่วยพลักดัน SME และ start up ประสบความสำเร็จ

ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ภาพรวมของกลุ่ม sme และ start up ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณทั้งสิ้น 3 ล้านราย ซึ่งมีประมาณ 8 แสนรายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ทั้งนี้การที่ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่ม sme และ start up เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยหากดู GDP ในไตรมาส 1/64 คิดเป็น 34.7% ของ GDP รวมของประเทศ

โดยตลาดหลักมทรัพย์ได้เริ่มเปิดตัว Live platform ในปีที่แล้วช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งปัจจุบันเปิดครบ 1 ปี มีพันธมิตรรวมกว่า 25 ราย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยระดมความคิดหาแนวทางช่วยเหลือเหล่า sme และ start up ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะเข้าไปสู่ตลาดทุน

ในส่วนของ Live platform ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 3,000 ราย และอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อเชื่อมกับตัว set member ที่มีสมาชิกอยู่เกือบล้านราย ทั้งนี้ในส่วนของแพลตฟอร์ม E learning ผู้ประกอบหรือผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิกฟรีและศึกษาได้ด้วยตนเอง เพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้องเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพที่ดี และพร้อมที่จะก้าวขึ้นไปสู่การระดมทุนในตลาดทุนอย่างมีความรู้และเข้าใจ

“สุดท้ายในส่วนของ Live Exchange เป็นเรื่องของการบาลานซิ่ง ในขณะเดียวกันก็ยังคุ้มครองนักลงทุน  โดยได้มีการเปิดฟังความคิดเห็นในการปรับเกณฑ์ไปเรียบร้อย สำหรับข้อสรุปสุดท้ายว่ากฎระเบียบจะออกมาเป็นยังไง ซึ่งคาดว่าได้บังคับใช้ในช่วงต้นปีหน้าหรือภายในปลายปีนี้ และตั้งเป้าว่าจะมี sme และ start up เริ่มเข้ามาจดทะเบียนใน Live Exchange อย่างช้าที่สุดคือต้นปีหน้า” นายแมนพงศ์กล่าว

ขณะที่ นายพิเชษฐ์ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง กล่าวว่า Live Exchange จะเป็นตัวช่วยที่ดีตั้งแต่การเตรียมตัวและความเข้าใจ เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายยังขาดความรู้ความเข้าใจและขาดความพร้อม ซึ่ง Live Exchange จะเป็นเหมือนบันไดในการเตรียมความพร้อมและเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับคนที่ต้องการระดมทุนมาเปิดตัวและทำให้ตัวเองมีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งหวังว่าหลังจากที่ผู้ประกอบการทีความพร้อมมากเพียงพอในแพลตฟอร์มนี้แล้ว ก็สามารถต่อยอดเข้ามาสู่ตลาด set และ mai ได้ต่อไปในอนาคต