ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเฟ้อคืนนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนจับตาดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อคืนนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ นักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดใกล้ชิด หลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านกระทรวงท่องเที่ยวฯยันเดินหน้าเปิดประเทศ 1 ต.ค.นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงาน สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ระดับ 32.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/9) ที่ระดับ 32.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาดูการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในคืนวันนี้ (14/9) เพื่อจับทิศทางอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ รวมทั้งจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 21-22 กันยายน เพื่อหาสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ เมื่อเทียบรายปี จะปรับตัวลดลงที่ 4.2% ในเดือนสิงหาคม ลดลงจากระดับ 4.3% ในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครตได้เสนอให้มีการปรับขึ้นภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุน (capital gains tax) และเงินปันผลขึ้นสู่ระดับ 28.8% ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการปฏิรูปภาษีที่พุ่งเป้าเรียกเก็บจากชาวอเมริกันที่ร่ำรวย และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณวงเงิน 3.5 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับภาษีใหม่นั้น จะเรียกเก็บกับผู้ที่ขายหุ้นและขายสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ หลังจากวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันที่สมาชิกพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มเสนอให้การจัดเก็บภาษีเหล่านี้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศปรับตัวลดลงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,786 ราย ทำให้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,406,542 ราย

นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันเดินหน้าเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งจะเปิดให้มีการท่องเที่ยวใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่เคยประกาศไว้ล่วงหน้า ส่วนจังหวัดที่เหลือจะเดินตามแผนการเปิดให้ท่องเที่ยวได้ใน 21 จังหวัด ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.88-32.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.91/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (14/9) ที่ระดับ 1.1811/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/9) ที่ระดับ 1.1790/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังแกว่งตัวในกรอบแคบใกล้ระดับ 1.1800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังขาดปัจจัยใหม่รวมถึงไม่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อ ที่จะประกาศในวันศุกร์ (17/9) นี้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1805-1.1831 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1812/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ระดับ 110.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/9) ที่ระดับ 110.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ โดยสำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ มีการเปิดเผย ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง -1.5% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ปรับตัวลดลงจาก 6.5% ในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.96-110.11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ เดือนกันยายน (14/9), ผลผลิตอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือนสิงหาคม (15/9), ดัชนีการผลิตสหรัฐเดือนกันยายนจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/9),อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของยูโรโซน (17/9), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนกันยายนของสหรัฐ (17/9)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.85/+2.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ