กรมศุลฯจูงใจจ่ายภาษีเร็ว ปี’61 เร่งยกอันดับทำธุรกิจ

กรมศุลฯจูงใจผู้ประกอบการเสียภาษีขาดเร่งจ่ายใน 3 ปี ออกกฎกระทรวงลดเงินเพิ่มให้เป็นขั้นบันได พร้อมเร่งยกเครื่องพิธีการศุลกากร หลังถูก “สมคิด” คาดโทษ เหตุอันดับความยากง่ายทำธุรกิจด้านค้าระหว่างประเทศตก 1 อันดับ

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 กรมได้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม พ.ศ. 2560 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นำเข้าส่งออกมากขึ้น โดยมีมาตรการจูงใจการชำระภาษี ในกรณีที่ชำระอากรไว้ไม่ครบถ้วน หลังนำของออกไปจากอารักขาของกรมศุลกากรแล้ว

กุลิศ สมบัติศิริ

ขณะเดียวกัน ในปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมศุลฯต้องเร่งผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business) ในด้านการค้าระหว่างประเทศให้ดีขึ้น หลังการจัดอันดับครั้งล่าสุด ตกลงมา 1 อันดับ จาก 56 เป็น 57

โดยโครงการแรก ทำร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย คือ โครงการระบบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) ที่มีเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อลดการใช้เอกสาร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านเอกสารไปได้ราว 3,500 ล้านบาทต่อปี โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เดินทางไปเปิดโครงการนี้เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ณ ท่าเรือแหลมฉบัง

“ระบบ e-Matching นี้นอกจากจะเซฟเวลาในการกรอกเอกสารไป 1 ชั่วโมงแล้ว การคีย์รหัส พรินต์ใบเสร็จไปยื่นท่าเรือ จากเดิมที่ใช้เวลา 3-5 นาที ก็ลดลงเหลือ 20-30 วินาที ก็เซฟเวลาไปได้ แถมยังไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็ไปทำอย่างอื่นได้” นายกุลิศกล่าว

ขณะที่ยังมีอีก 3 โครงการที่จะทำร่วมกับการท่าเรือฯ และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2561 ได้แก่ 1.ระบบการผ่านพิธีการทางศุลกากรล่วงหน้า (prearrival processing) เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงของผู้ประกอบการล่วงหน้า

2.ระบบพิธีการศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำ (e-Transshipment) จากเดิมต้องสำแดงเอกสารถึง 19 ชนิด ก็จะใช้แค่ใบขนแสดงรายการประเภทสินค้าแบบกว้าง ๆ แทน ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อเสนอของทางหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการถ่ายลำ จากเดิมที่ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางอยู่ และ 3.การปรับระบบพิธีการเกี่ยวกับตรวจสอบสินค้าระหว่างการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปท่าเรือกรุงเทพ หรือขนส่งจากท่าเรือกรุงเทพไปท่าเรือแหลมฉบังที่ต้นทางเพียงจุดเดียว จากเดิมที่ต้องตรวจทั้ง 2 จุด

“ธนาคารโลกจะเข้ามาประเมินในเดือน พ.ค. ฉะนั้นเราต้องทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติก่อน เพราะที่ผ่านมา อันดับของประเทศดีขึ้น แต่อันดับด้านการค้าระหว่างประเทศตกลงมา 1 อันดับ ก็ต้องทำให้สำเร็จ เพราะท่านรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) คาดโทษไว้แล้ว” นายกุลิศกล่าว

นอกจากโครงการที่ทำกับการท่าเรือฯแล้ว กรมศุลฯยังมีการทำระบบบริการจำแนกพิกัด อัตราศุลกากรล่วงหน้า (e-Advance Ruling) ที่จะอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการมากขึ้น โดยลดระยะเวลาเหลือไม่เกิน 30 วัน จากเดิมที่ใช้เวลา 90 วัน

ขณะที่ระบบ NSW ที่ทำมาเป็น 10 ปีแล้วยังไม่เกิดผลทางปฏิบัตินั้น ล่าสุดนายกรัฐมนตรีสั่งให้กรมศุลฯหารือกับหน่วยงานอื่น ๆ ผลักดันใบอนุญาตเป็นแบบฟอร์มเดียว (single form) โดยจะเริ่มจาก 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าวัตถุอันตราย กับอีก 2 หน่วยงานที่เป็นสินค้ายางพารา และอีก 1 หน่วยงานที่เป็นสินค้าอ้อยและน้ำตาล

นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร กรมศุลกากรกล่าวว่า หลังจากกฎหมายศุลกากรฉบับใหม่บังคับใช้ จะอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น การวางประกันกรณีถ่ายลำ จากเดิมต้องวางเงินประกัน 2 ล้านบาท ก็จะยกเว้นให้เลย หากทำผ่านเอเย่นต์ที่ไม่เคยมีปัญหา

ส่วนกฎกระทรวงที่ให้ลดเงินเพิ่ม ก็เป็นการจูงใจให้ชำระภาษี ในกรณีที่กรมมีการชี้ว่าจ่ายภาษีขาดไป จากเดิมผู้ประกอบการต้องมาเสียภาษีพร้อมเงินเพิ่ม 1% ต่อเดือน แต่กฎหมายใหม่หากชำระใน 1 ปี ก็จะเสียเงินเพิ่มแค่ 0.25% ต่อเดือน หรือชำระเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จะเสียเงินเพิ่ม 0.50% หรือชำระเกิน 2 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี จะเสียเงินเพิ่ม 0.75% เท่านั้น