ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐออกมาต่ำกว่าคาด

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐออกมาต่ำกว่าคาด ขณะที่ปัจจัยในประเทศ รมว.คลัง ออกมาเปิดเผยว่าเศรษฐกิจของไทยมีทิศทางดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 32.86/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 15 กันยายน 2564 ว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/9) ที่ระดับ 32.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/9) ที่ระดับ 32.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อคืนที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์

โดยระบุว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% และหากเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือน ส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4% ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวทำให้นักลงทุนเชื่อว่าจะเป็นการลดแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ทั้งนี้นักลงทุนยังคอยจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย. เพื่อหาสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายของเฟดต่อไป

อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ดอลลาร์สหรัฐยังได้แรงหนุนอยู่บ้างหลังนักลงทุนได้ขายเงินสกุลอื่น ๆ และมาถือครองเงินสกุลปลอดภัยอย่างดอลลาร์หลังมีความกังวลเรื่องรัฐบาลสหรัฐจะปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate tax rate) จากระดับ 21% สู่ระดับ 26.5% และภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุน (capital gains tax) และเงินปันผลขึ้นสู่ระดับ 28.8% ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครตเสนอ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศปรับตัวลดลงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในวันนี้ (15/9) มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 13,798 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 1,391,477 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 144 ราย

ทั้งนี้ รมว.คลัง เปิดเผยว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสก็พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แม้จะยังไม่แข็งแรงมากนัก แต่รัฐบาลพยายามสร้างสมดุลระหว่างการดูแลด้านสาธารณสุขควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน พร้อมใช้นโยบายการคลังหรือด้านภาษีมาช่วยด้วย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.86–32.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.86/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (15/9) ที่ระดับ 1.1805/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่อนข้างทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/9) ที่ระดับ 1.1804/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังแกว่งตัวในกรอบแคบใกล้ระดับ 1.1800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังขาดปัจจัยใหม่รวมถึงไม่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อ ที่จะประกาศในวันศุกร์ (17/9) นี้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1800-1.1828 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1823/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/9) ที่ระดับ 109.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/9) ที่ระดับ 110.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนที่ผ่านมา ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามสำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังไม่ค่อยสู้ดีนัก

โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (15/9) ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภคไฟฟ้า ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แตะที่ระดับ 8.597 แสนล้านเยน (7.8 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนแต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1%

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.28-109.66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือนสิงหาคม (15/9), ดัชนีการผลิตสหรัฐเดือนกันยายนจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/9), อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของยูโรโซน (17/9), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนกันยายนของสหรัฐ (17/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.35/+0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.40/+3.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ