แนะกลยุทธ์ 2 เพิ่ม 2 หนุน พลิกฟื้นธุรกิจร้านอาหารหลังโควิด-19

คอลัมน์ Smart SMEs
ttb analytics

ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะร้านอาหารเป็นกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด (ล็อกดาวน์) โดยตรง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดที่ลดลงต่อเนื่อง และประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น ทำให้ในต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ภาครัฐได้เริ่มผ่อนคลายกิจกรรมบางประเภท เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย สปา

รวมไปถึงร้านอาหาร แต่ต้องเป็นไปตามแนวปฏิบัติมาตรการองค์กร ที่เรียกว่า “COVID-free setting” ด้วยการกำหนดมาตรการ ควบคุมดูแลสถานที่ ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ให้สามารถเปิดกิจการและจัดกิจกรรมได้อย่างปลอดภัย

สำหรับร้านอาหาร แม้ว่าจะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการเปิดร้านได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมที่จำกัดจำนวนผู้รับบริการ หากเป็นร้านนอกอาคาร นั่งรับประทานได้ 70% ร้านห้องแอร์ นั่งรับประทานได้ 50% การคลายล็อกดาวน์ดังกล่าวนี้

ทำให้ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายอย่างรวดเร็วอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่เท่ากับช่วงเหตุการณ์ปกติ แต่หากพิจารณาการฟื้นตัวของดัชนีการขายปลีกในช่วงระบาดระลอกแรกหลังคลายล็อกดาวน์ในเดือนพฤษภาคม

ปี 2563 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่าร้านอาหาร SMEs จะมีรายได้ 10,000 ล้านบาท สูงมากกว่าเดือนสิงหาคม ปี 2564 กว่าเท่าตัว และในไตรมาส 4 ปี 2564 นี้ หากไม่มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นอีก คาดว่าจะมีรายได้กว่า 3.8 หมื่นล้านบาท

ด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมาและแนวโน้มการระบาดที่ควบคุมได้ รวมทั้งการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้คาดการณ์ว่า รายได้ร้านอาหาร SMEs ปี 2564 นี้จะลดลงจากปีก่อนเพียง 7%

และจากแนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ที่ดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 จึงเป็นสัญญาณให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเร่งความพร้อมตามแนวทางมาตรการให้สามารถกลับมาเปิดร้านได้อีกครั้ง

เนื่องจากที่ผ่านมาเพียงประคองให้ผ่านช่วงต่ำสุด และจุดเริ่มต้นการผ่อนคลายมาตรการได้ช่วยสะท้อนให้เห็นกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังมีอยู่ และหากมีกลยุทธ์ “2 เพิ่ม 2 หนุน” มาเสริม ย่อมช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีโอกาสพลิกฟื้นได้เร็วขึ้น

โดย “กลยุทธ์ 2 เพิ่ม” ได้แก่ 1.เพิ่ม…การส่งเสริมการขาย ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาทำโปรโมชั่นสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้กับลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

2.เพิ่ม…แผนรองรับความเสี่ยง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอยู่ โดยเราไม่อาจทราบได้ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ดังนั้น การเพิ่มแผนสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบน้อยลง เช่น ลดปริมาณในการสั่งของล่วงหน้า หรือวางแผนสำรองในกรณีที่พนักงานในร้านติดเชื้อ เป็นต้น

“กลยุทธ์ 2 เพิ่ม” ข้างต้น เป็นข้อเสนอสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร SMEs ที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อจูงใจลูกค้าให้กลับมาใช้บริการที่ร้าน และเป็นการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรใช้ “กลยุทธ์ 2 หนุน” ช่วย ได้แก่ 1.หนุน…ความมั่นใจให้กับประชาชน เมื่อมีการปรับมาตรการให้ร้านอาหารเปิดได้ ภาครัฐควรวางมาตรการระยะยาว

หรือแผนสำรองเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่ และทำให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ต้องงดการรับประทานในร้าน

2.หนุน…ลดต้นทุนการจัดการ การออกมาตรการต่าง ๆ ที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนมากขึ้น โดยต้องไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและประชาชน เช่น ภาครัฐสนับสนุนชุดตรวจโควิด (ATK) ให้แก่ผู้ประกอบการ

โดยกระจายจุดตรวจและแจกจ่าย ATK ให้กับประชาชนได้รับบริการได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ภาครัฐสามารถเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 รวมทั้งลดขั้นตอนในการลงทะเบียน หรือกระบวนการต่าง ๆ ในการแสดงหลักฐานว่า ผ่านเงื่อนไขตามหลัก COVID-free setting แล้ว เป็นต้น

การปรับกลยุทธ์การขายและการวางแผนรองรับความเสี่ยง เป็นแนวทางทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้บนความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

และหากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการได้ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว