เอเวอร์แกรนด์ : โบรกประเมินผลกระทบต่อการลงทุนไทย

“บล.เอเซียพลัส” ประเมินวิกฤตการเงิน “เอเวอร์แกรนด์” ยักษ์อสังหาจีน มีผลกระทบในวงจำกัดทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย เหตุตั้งแต่ปี 61 ดีเวลลอปเปอร์ไทยชะลอแผนลงทุนชัดเจน หลังเจอ“มาตรการ LTV-สงครามการค้า-วิกฤตโควิด” ฉุดกำลังซื้อ ด้านฐานะการเงินบริษัทอสังหาฯ Net Gearing แค่ 1 เท่าต่ำมาก หวั่นมีบริษัทอสังหาฯ ไปออกกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเอเวอร์แกรนด์ อาจกระทบหนัก เหตุราคาหุ้นเอเวอร์แกรนด์ตั้งแต่ต้นปีปรับฐานลงมา 82%

วันที่ 17 กันยายน 2564 นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ นักเศรษฐศาสตร์และผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (ASP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีวิกฤตการเงินของเอเวอร์แกรนด์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน ที่ต้องแบกหนี้สินรวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ จนใกล้ล้มละลาย ประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบในวงจำกัดต่อเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทย เพราะเอเวอร์แกรนด์เป็นหนี้กับเจ้าหนี้ในประเทศ ทั้งสถาบันการเงิน, หน่วยลงทุน, การออกพันธบัตร และแม้ว่าหลายฝ่ายประเมินว่าเอเวอร์แกรนด์จะเป็นวิกฤตซับไพรม์ในเอเชีย แต่มุมมองฝ่ายวิจัยเอเซียพลัสไม่ได้มองแบบนั้น

สาเหตุเพราะช่วงวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดในสหรัฐอเมริกาปี 2551 กระทบในวงกว้างเพราะเกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ แต่ช่วงนั้นคนอเมริกาสามารถกู้เงินซื้อบ้านและเก็งกำไรได้ โดยสถาบันการเงินมีการทำโปรดักต์ทางการเงินขึ้นมาและเอาหนี้คุณภาพไม่ดี(NPL) มาจับมัดรวมกันและปล่อยขาย ในขณะที่วิกฤตการเงินของเอเวอร์แกรนด์มีปัญหาเจ้าหนี้เฉพาะรายจึงมองว่ากระทบในวงจำกัด โดยมีมุมองสอดคล้องกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ที่คาดว่าธนาคารกลางจีนจะเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเอเวอร์แกรนด์เป็นกรณีแรก

ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยและบริษัทจดทะเบียนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของไทย คงกระทบในวงจำกัดในแง่บรรยากาศ(Sentiment) ที่ทำให้คนอาจจะรู้สึกกลัว แต่ในเชิงพื้นฐานไม่ได้กระทบ เพราะจากการประเมินการลงทุนและการขยายโครงการของดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ ที่บริษัทดูแลกว่า 10 บริษัท อาทิ แสนสิริ, อนันดาฯ, แลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นต้น ตั้งแต่ปี 2561 ดีเวลลอปเปอร์ชะลอการลงทุนชัดเจน เพราะปีนั้นเจอมาตรการ LTV จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำหรับคนที่จะกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 จะถูกจำกัด และถัดมาเจอสงครามการค้าทำให้กำลังซื้อของจีนลดลง ส่งผลให้คนจีนอาจจะชะลอซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยลดลง และมาเจอผลกระทบวิกฤตโควิด จึงทำให้ดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนโครงการ

“ส่วนความกังวลที่อาจจะมีบริษัทอสังหาฯ ไปออกกองทุนหุ้นหรือพันธบัตรที่ลงทุนในหุ้นเอเวอร์แกรนด์ จะมีผลกระทบแน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่ามีกองไหนบ้าง เพราะราคาหุ้นเอเวอร์แกรนด์ ตั้งแต่ต้นปีปรับฐานลงมา 82% ใครถืออยู่ขาดทุนหนัก และราคาพันธบัตรลดลงต่ำสุดเหลือ 40 เซนต์ 

ส่วนในแง่ราคาหุ้นอสังหาฯของไทยไม่ได้มีความเสี่ยงขนาดนั้น เพราะตัววัดฐานะการเงินบริษัทอสังหาในไทย(Net Gearing) ปัจจุบันอยู่แค่ 1 เท่า ต่างจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่สูงถึง 10 เท่า สะท้อนฐานะการเงินไม่ดี แต่ปัจจุบันต่ำมาก” นายฐกฤต กล่าว