บาทอ่อนค่ารับตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวกสหรัฐ ตลาดจับตาผลประชุมเฟด

เงินบาท

บาทอ่อนค่ารับตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวกสหรัฐ ตลาดจับตารอดูการประชุมเฟด ขณะที่ปัจจัยในประเทศ รมว.คลังระบุว่า เศรษฐกิจของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 ก่อนปิดตลาด ที่ระดับ 33.24/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (13/9) ที่ระดับ 32.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 32.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% เมื่อเทียบรายปี โดยดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนสิงหาคมหลังจากดีดตัวขึ้น 7.8% ในเดือนกรกฎาคม

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 6.3% เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยระบุว่าดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4%

และหากเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4% ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวทำให้นักลงทุนเชื่อว่าจะเป็นการลดแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ในขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.5% นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าลดลง 0.3% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือนสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.3% และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 10 เดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตพุ่งขึ้นสู่ระดับ 34.3 ในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.0 จากระดับ 18.3 ในเดือนสิงหาคม โดยดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน รวมทั้งความเชื่อมั่นของบริษัทในภาคการผลิต

ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์กระทรวงแรงงานสหรับเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 20,000 ราย สู่ระดับ 332,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 330,000 ราย ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่ายอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 0.8% โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายในช่วงก่อนเปิดเทอมการศึกษาในสหรัฐ

ทั้งนี้นักลงทุนยังเข้าถือครองดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยภายหลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครตได้เสนอให้มีการปรับขึ้นภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุน (capital gains tax) และเงินปันผลขึ้นสู่ระดับ 28.8% ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการปฏิรูปภาษีที่พุ่งเป้าเรียกเก็บจากชาวอเมริกันที่ร่ำรวย และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณวงเงิน 3.5 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับภาษีใหม่นั้นจะเรียกเก็บกับผู้ที่ขายหุ้นและขายสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ หลังจากวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 21-22 กันยายน เพื่อหาสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยนักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศปรับตัวลดลงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ รมว.คลังเปิดเผยว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสที่พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แม้จะยังไม่แข็งแรงมากนัก แต่รัฐบาลพยายามสร้างสมดุลระหว่างการดูแลด้านสาธารณสุขควบคู่กับการจับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะใช้นโยบายการคลังหรือด้านภาษีมาช่วยด้วย ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.75-33.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 33.24/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (13/9) ที่ระดับ 1.1806/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 1.1842/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในช่วงท้ายสัปดาห์มีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนประจำเดือนสิงหาคม ซึ่งขยายตัวที่ 3% ตามคาด และตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ระดับ 1.6% ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ค่าเงินยูโรถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันหลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ยืนยันในสัปดาห์ก่อนว่า การส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการ PEPP ไม่ได้หมายความว่า ECB กำลังถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินมานับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังระบุว่า ECB เชื่อว่าแรงกดดันจากค่าจ้างยังคงไม่รุนแรง และะภาวะคอขวดของอุปทานจะเริ่มบรรเทาลง

ส่วนการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตัดสินใจที่จะลดวงเงินการซื้อพันธบัตรลงในเร็ว ๆ นี้ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าลง โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1754-1.1842 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 1.1780/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (13/9) ที่ระดับ 109.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 109.90/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนจากการที่กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจ โดยระบุว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นในไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) กลับเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3ไตรมาส เนื่องจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ช่วยเพิ่มความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง -1.5% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ปรับตัวลดลงจาก 6.5% ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่ายอดส่งออกเดือนสิงหาคมปรับตัวขึ้น 26.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนกรกฎาคมที่พุ่งขึ้น 37% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 34% ส่วนยอดนำเข้าเดือนสิงหาคมพุ่งขึ้น 44.7% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าในเดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวขึ้น 28.5% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 40%

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 6.354 แสนล้านเยน (5.81 พันล้านดอลลาร์) น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งอยู่ที่ 4.77 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภคไฟฟ้า ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือนแตะที่ระดับ 8.597 แสนล้านเยน (7.8 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1%


ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.23-110.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/9) ที่ระดับ 109.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ