คปภ.ส่งทีมตรวจสอบบริษัทประกัน เลิกจ้างพนักงาน-ส่อปิดกิจการ

คปภ.ส่งทีมตรวจสอบบริษัทประกัน หลังเลิกจ้างพนักงาน-ส่อปิดกิจการ

คปภ.ส่งทีมเข้าตรวจสอบ “บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งเลิกจ้างพนักงาน” พร้อมควบคุมเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผ่าน 3 แนวทางหลัก ด้าน “บริษัทประกัน” ชี้แจงต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยตามภาระผูกพันได้ “เลขาฯ คปภ.” เผยยังไม่พบการเลิกกิจการ-พฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน เตรียมเชิญผู้บริหารเข้ามาชี้แจง

วันที่ 19 กันยายน 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งได้แจ้งการเลิกจ้างพนักงานของบริษัท โดย คปภ.ได้ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

เบื้องต้นได้รับรายงานจากบริษัทแห่งนี้ว่า กรณีดังกล่าวบริษัทได้ดำเนินการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามภาระผูกพันได้ และยังคงพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้

ทั้งนี้ คปภ.ได้ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนจากกรณีข่าวของบริษัทแห่งนี้ และเพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ดำเนินการและออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ดังนี้

1.ส่งทีมตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยบูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบการเลิกประกอบกิจการของบริษัท และยังไม่พบพฤติการณ์การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งมีกลไกทางกฎหมายในการป้องกันและควบคุมในส่วนนี้อยู่ อีกทั้งก็ยังไม่พบว่ามีบริษัทประกันภัยอื่นมีปัญหาในลักษณะดังกล่าว

ทั้งนี้ การเลิกประกอบกิจการ ต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยต้องยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเข้ามาแต่อย่างใด

2.จะเชิญคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัท เพื่อทราบเจตจำนงและชี้แจงในกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมทั้งให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย

3.ได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้อย่างเป็นระบบและขั้นตอน โดยจะเริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก ทั้งนี้หากพบว่าบริษัทมีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จะเร่งใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดอย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลาย

อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อเร่งจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงาน คปภ. เรื่อง ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564

ซึ่งบริษัทสามารถเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรน ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้เห็นชอบมาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“สำนักงาน คปภ.จะติดตามการดำเนินการของบริษัท และบริษัทประกันภัยอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดและทันที หากมีกรณีที่จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน จะดำเนินการทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องอย่างเต็มความสามารถไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนไปยังบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 ให้ดำเนินการต่าง ๆ อย่างรอบคอบและระมัดระวัง

โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน และคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับบริษัทที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการผ่อนปรนรองรับไว้แล้ว เพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถในทุกมิติ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าว