รัฐขยับเพดานหนี้กู้เพิ่มแก้วิกฤต โปะลงทุนรัฐวิสาหกิจ-รับมือโควิด

กสิกร

“คลัง-สภาพัฒน์-แบงก์ชาติ” เร่งเตรียมมาตรการชุดใหญ่ดูแลธุรกิจ-กระตุ้นบริโภคช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี’64 หลังรัฐบาลขยับเพดานก่อหนี้เป็น 70% ทลายขีดจำกัดกู้เงิน-เพิ่มพื้นที่ทางการคลัง-เปิดรูมก่อหนี้เพิ่ม 1.6 ล้านล้านบาท รองรับความจำเป็นประเทศทั้งฟื้นฟูหลังโควิด-โปะงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบปรับกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมกำหนดไม่เกิน 60% ขยับเพดานเป็นไม่เกิน 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ให้กับรัฐบาลและไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินในอนาคต โดยเป้าหมายรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เนื่องจากหากไม่ขยายเพดานหนี้ในปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะอาจเกินเพดาน 60%

กู้เพิ่มได้ 1.6 ล้านล้านบาท

“การขยายเพดานหนี้เหตุผลไม่ใช่ทำเพื่อดูแลแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเดียว แต่เป็นการเตรียมความพร้อมไว้เพราะภารกิจลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็ยังมีอยู่ เช่น การดูแลราคาสินค้าเกษตร การลงทุนด้านพลังงาน ด้านขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้าต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งตรงนั้นต้องกู้เงินเหมือนกัน ถ้าไม่ขยายเพดานหนี้สาธารณะจะมีผลทำให้การกู้ลงทุนโครงการขนาดใหญ่มีข้อจำกัด ส่วนจะกู้ให้เต็มเพดานหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ การขยายเพดานก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม 10% คำนวณจากจีดีพีปัจจุบันเกือบ 16 ล้านล้านบาท เท่ากับรัฐบาลสามารถก่อหนี้เพิ่ม 1.5-1.6 ล้านล้านบาทหลังจากนี้มีการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐพิจารณาอีกครั้ง

ไตรมาส 4 กระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับการดูแลเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/64 ก.คลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังพิจารณาร่วมกัน คาดว่าเป็นแพ็กเกจใหญ่พอสมควร ให้สอดรับกับแผนการเปิดเมืองด้วย เน้นช่วยเหลือประคองภาคธุรกิจและกระตุ้นการบริโภค

“ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายยังมีโครงการที่ใช้เงินเก่า เช่น เราเที่ยวด้วยกันที่หยุดไปเพราะมีโรคระบาดรุนแรงขึ้นมา ขณะที่มีเงินอื่นมาเติมด้วย อาทิ การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงมหาดไทยที่ใช้งบฯกลาง 4.5 หมื่นล้านบาท กระจายลงไปตามต่างจังหวัด”

สำหรับโครงการรักษาระดับการจ้างงานที่รัฐบาลร่วมจ่ายกับภาคเอกชน (โค-เปย์) กำลังพิจารณาสานต่อ โดยใช้ฐานข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม เป็นหลัก โครงการกระตุ้นการบริโภค

อาทิ ปรับปรุงมาตรการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ รวมทั้งที่ผ่านมามีการพักหนี้ให้ลูกหนี้ 3-6 เดือน ขึ้นกับสถาบันการเงิน ถ้าพักหนี้ 3 เดือนเท่ากับกำลังจะครบกำหนด ซึ่ง ธปท.ต้องพิจารณาว่าจะขยายต่ออีกหรือไม่ เป็นต้น

“ไตรมาสสุดท้าย การใช้เงินจากกฎหมายกู้เงินที่มีวงเงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เพิ่งใช้วงเงินไปเล็กน้อย รวมถึงงบประมาณประจำปี 2565 ก็ลงประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ลงทะเบียนบัตรคนจนรอบใหม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การขยายเพดานก่อหนี้สาธารณะ 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล ไม่ให้เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง และเป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันสำหรับนำมาใช้ในการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังยุคโควิด

ขณะเดียวกันคลังทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากดำเนินการมา 3 ปีแล้ว ความคืบหน้ารอสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สรุปเงื่อนไขมาตรการช่วยเหลือเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.อยู่ระหว่างปรับปรุงเงื่อนไขบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ คาดว่ามีข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.นี้ เบื้องต้นจะพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิ เพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ จากปัจจุบันช่วยเหลือคนละ 230-300 บาทต่อเดือน

“ขณะนี้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว จึงเชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย โดยกระทรวงการคลังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน”

กสิกรไทยหนุนขยายเพดานหนี้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้ภาครัฐมีการใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบผ่านมาตรการทางการคลัง โดยดำเนินการผ่านแหล่งเงินงบประมาณประจำปี 2563-2564, กฎหมายกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท

รวมถึงการกู้เงินขาดดุลงบประมาณที่มีแนวโน้มยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับฐาน GDP ไทยที่หดตัวลึก คาดว่าส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยแตะระดับ 60% ต่อ GDP ได้ภายในปี 2564

ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลกมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน แทบทุกประเทศทั่วโลกมีการอัดฉีดมาตรการการคลังในการเยียวยาประชากรและกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้นจะเห็นยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนนำมาสู่การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น รัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว

ดังนั้นความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการ roll over หนี้ที่ครบกำหนดไม่ทันจึงมีอยู่จำกัด นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก ช่วยเอื้อให้ต้นทุนของภาระหนี้ (debt service burden) ในกรอบเวลาระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จุดสนใจอยู่ที่การบริหารจัดการการคลังในระยะกลางถึงยาว จำเป็นต้องมีแผนจัดหารายได้ภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อลดการขาดดุลการคลังในระยะข้างหน้า