บริษัทตลาดหุ้นไทย ปี’63 ปรับลดพนักงานกว่า 1.19 แสนราย

โควิด

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดรายงาน “ส่องแรงงานของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ของตลาดหุ้นไทย ท่ามกลางวิกฤต COVID-19” พบสิ้นปี 63 พนักงานลดลงจากปีก่อนหน้า 119,109 คน ราว 9% สาเหตุหลักได้รับผลกระทบวิกฤตโควิด-การแยกธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อย

โดยปี 2563 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีจำนวน 743 บริษัท เพิ่มขึ้น 17 บริษัทจากปี 2562  โดยพบว่าในปี 2564 มีจำนวนพนักงานรวมทั้งสิ้น 1,608,495 คน คิดเป็น 4.2% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเพิ่มขึ้น 130,643 คน หรือเพิ่มขึ้น 8.8% จากปีก่อนหน้า โดยมีพนักงานจากบริษัทจดทะเบียนใน SET จำนวน 1,542,749 คน

และพนักงานจากบริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 65,746 คน  โดยค่าเฉลี่ยการจ้างงานต่อบริษัท พบว่าค่าเฉลี่ยการจ้างงานของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai อยู่ที่ 2,165 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยการจ้างงานของบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศไทย อยู่ที่ 66 คน

โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ที่รายงานข้อมูลจำนวนพนักงานต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี (2561-2563) จำนวน 619 บริษัท พบว่า สิ้นปี 2563 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีจำนวนพนักงานรวมทั้งสิ้น 1,263,634 คน ลดลงจากปีก่อนหน้า 119,109 คน หรือลดลง 9% ซึ่งประกอบด้วยพนักงานจากบริษัทจดทะเบียนใน SET อยู่ที่ 1,207,712 คน ลดลง 115,449 คน และเป็นพนักงานจากบริษัทจดทะเบียนใน mai อยู่ที่ 55,922 คน ลดลง 3,660 คน จากปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และการแยกธุรกิจบางส่วนออกเป็นบริษัทย่อย ทำให้จำนวนพนักงานในบริษัทเดิมลดลง 22,977 คน

ทั้งนี้ในปี 2563 การจ้างงานของบริษัทในกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยบริษัทในกลุ่มทรัพยากรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากที่สุด เนื่องจากบางบริษัทมีผลประกอบการดี มีกำไรต่อเนื่อง และบางบริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น

 

เมื่อพิจารณาการจ้างงานของบริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารพบว่าลดลงเป็นสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ประกอบกับบางบริษัทมีธุรกิจที่มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางกิจการต้องปิดสาขา หรือหยุดดำเนินกิจการในบางส่วน เป็นเหตุให้บริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง

“ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะตลาดแรงงาน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติ พบว่า มีอัตราการว่างงานทั่วประเทศสูงขึ้นจาก 0.96% ณ สิ้นปี 2562 เป็น 1.49% ณ สิ้นปี 2563 และพบว่าในภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุด สอดคล้องกับหลายอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้มีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก

รองลงมาคือกรุงเทพฯ หนึ่งในศูนย์กลางทางธุรกิจที่มีบริษัทกระจุกตัวอย่างหนาแน่น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากขึ้น หากการแพร่ระบาดยังคงต่อเนื่องยาวนาน

สาเหตุสำคัญที่อาจทำให้พนักงานถูกเลิกจ้างในหลายอุตสาหกรรม

เกิดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ลดลงมากถึง 99.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ส่งผลกระทบต่อภาคบริการโดยตรง ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม รวมทั้งธุรกิจการบิน และยังทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ส่งผลให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวเสี่ยงต่อการตกงาน

“มาตรการล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อควบคุมวิกฤต COVID-19 เช่นการปิดสถานที่ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ชั่วคราว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมที่ถูกระงับ และส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านการลดการบริโภค โดยกิจการอาจลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างหรือลดจำนวนพนักงานลง เพื่อให้สอดคล้องกับยอดขายในช่วงวิกฤตนี้ รวมทั้งเด็กจบใหม่เสี่ยงที่จะตกงานสูงในปีดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนแก่ตลาดแรงงานไทยผ่านหลายๆ โครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน(Co-Payment) โดยจ้างงานเด็กจบใหม่ จำนวน 2.6 แสนคน และรัฐบาลช่วยเอกชนสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ต่อคนต่อเดือน

ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากถึง 12,324 ราย และมีจำนวนอัตราตำแหน่งงานทั้งหมด 140,011 ตำแหน่ง รวมทั้งจัดตั้งโครงการไทยมีงานทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และงาน Job Expo 2020 เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสนับสนุนการจ้างงาน ภายหลังวิกฤต COVID-19

 

ความเสี่ยงของตลาดแรงงานในอนาคต

  • การปรับตัวของธุรกิจทำให้ความต้องการแรงงานลดลง : เนื่องจํากพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 โดยเน้นการซื้อขาย หรือทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวเป็นดิจิทัลมากขึ้น และนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ํามาช่วยเพื่อลดการพึ่งพิงแรงงานลง
  • กระแสธุรกิจใหม่ทำให้ทักษะที่จำเป็นของแรงงานเปลี่ยนไป : การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจพลังงานสะอาด (Clean Energy) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV car) ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการยกระดับและเรียนรู้ทักษะใหม่(Up-skill & Re-skill) จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแรงงานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

รายงานฉบับนี้จัดทำโดย กุลนิดา จิราจินดากุล, วชิร มนัสเมธีกุล ฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เก็บข้อมูลจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai จากแบบรายงาน 56-1 ทำให้ความสมบูรณ์ของข้อมูลขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของการรายงานของบริษัทจดทะเบียนฯ และอย่างไรก็ตามผู้รวบรวมข้อมูลได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องตามที่ควร