เมืองไทยประกันภัยบุกตลาดโลจิสติกส์ ตั้งเป้าเบี้ยโต 100% ภายใน 2 ปี

“เมืองไทยประกันภัย” วางยุทธศาสตร์รุกตลาดประกันภัยรถยนต์ ที่เน้นการขยายตัวตามธุรกิจโลจิสติกส์ มุ่งรับประกัน “รถบรรทุกใหญ่-ประกันภัยขนส่ง” ครอบคลุมทั้งในประเทศ-ประเทศเพื่อนบ้าน วางเป้าเบี้ยเติบโต 100% ภายใน 2 ปี คาดสิ้นปี’64 โกยเบี้ยธุรกิจ Logistics ได้ราว 500 ล้านบาท

วันที่ 22 กันยายน 2564 นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ MTI เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงมีการเติบโตดี ตามความต้องการในการกระจายสินค้าทั่วทุกภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการขยายตัวของยอดขายรถบรรทุกขนาดใหญ่ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ประกอบกับธุรกิจ E-commerce ที่มีการขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา และจากนโยบายของกรมการขนส่งทางบก ที่มุ่งเน้นการสร้างความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางท้องถนนในหลากหลายแนวทาง

รวมทั้งได้มีการกำหนดมาตรฐานร่วมกันทุกภาคส่วนในการพัฒนาและบริหารจัดการผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก (Q-Mark) ทั้งในมุมมองด้านองค์กร ยานพาหนะ รวมถึงประสิทธิภาพของพนักงานขับรถ ซึ่งมีการพัฒนามาตรฐานมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำประวัติการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถรายคัน การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และสารเสพติดของพนักงานขับรถ การติดตั้ง GPS Tracking เพื่อควบคุมความเร็วขณะขับขี่ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนส่งที่เข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น

บริษัทจึงดำเนินการปรับเพิ่มแผนยุทธศาสตร์ และวางกลยุทธ์มุ่งเน้นการขยายงานบริการรับประกันภัยสำหรับรถบรรทุกใหญ่ทั้งการประกันภัยรถยนต์และการรับประกันภัยสินค้าและความรับผิดของผู้ขนส่ง โดยการเพิ่มบริการในด้านที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านอู่ซ่อมรถใหญ่ทั่วประเทศ การบริหารอะไหล่รถบรรทุกเฉพาะ และความพร้อมในด้านการบริการสำรวจภัย ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้ากลุ่มรถบรรทุกใหญ่ที่เป็น Logistics โดยที่ผ่านมาได้มีการขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง Bancassurance นายหน้า ตัวแทน และขายตรง

นางนวลพรรณกล่าวเพิ่มว่า คาดว่าสิ้นปี 2564 บริษัทจะมีเบี้ยประกันภัยธุรกิจ Logistics รวมประมาณ 500 ล้านบาท และจะเติบโตขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 40% โดยได้เน้นการพิจารณาการรับประกันภัยในกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่มีการบริหารจัดการที่ดีอีกทั้งจะมีการพิจารณารับประกันเป็นพิเศษ หากองค์กรนั้นได้ถูกพิจารณารับรองตามมาตรฐาน Q-Mark เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย