ดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า นักลงทุนขาดความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพร รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (22/11) ที่ระดับ 32.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในคืนที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลดลง 1.2% ในเดือนตุลาคม หลังจากพุ่งขึ้น 2.2% ในเดือนกันยายน ซึ่งการปรับตัวลดลงของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ ขณะที่คำสั่งซื้อรถยนต์ปรับตัวขึ้น ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ลดลง 0.5% ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานดีดตัวขึ้น 4.4% ในเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. เมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ โดยรายงานระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม แม้กรรมการเฟดส่วนหนึ่งยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับแนวดน้มอัตราเงินเฟ้อก็ตาม ทั้งนี้กรรมการเฟดยังคงประเมินภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐไว้ที่ระดับเดียวกับการประเมินครั้งก่อน โดยเชื่อว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะใกล้นี้ พร้อมระบุว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้ได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งจากพายุเฮอร์ริเคน อย่างไรก็ตาม กรรมการเฟดบางคนได้แสดงความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แม้อัตราว่างงานปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลซึ่งเป็นตัวเลขที่เฟดให้ความสำคัญเนืื่องจากสามารถบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้น เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ในเดือน ก.ย. ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ดังนั้นจึงเห็นว่าเฟดควรดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับการประชุมซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 1.00-1.25% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ส่วนการประชุมครั้งต่อไปของเฟดจะมีขึ้นในวันที่ 12-13 ธ.ค.นี้ ขณะที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากเหตุผลหลักคือคนขาดความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะแผนปฏิรูปภาษีที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในสหรัฐ  ประกอบกับรายงานการประชุมคณะกรรมการ กำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่ออกมาเมื่อวานนี้ยังมีความกังวลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ในช่วงนี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่ ๆ ทีื่จะช่วยสนับสนุนดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.69-32.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.68/32.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (23.11) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1819/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (22/11) ที่ระดับ 1.1759/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากผลรายงานการประชุมเฟดส่งสัญญาณความกังวลต่อสภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1820-1.1841 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1837/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนว้ันนี้ (23/11) เปิดตลาดที่ระดับ 111.19/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (22/11) ที่ระดับ 112.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนมีแรงซื้อเข้ามาในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลในตลาดเงินทุนและความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐและการเมืองของเยอรมนี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 111.08-111.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 111.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี Markit Services PMI ของสหรัฐ (24/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.25/-1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.5/-3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ