สมาคมจำนำฯ เสนอมหาดไทยแก้ 2 เงื่อนไขประกาศทวงถามหนี้ 

เงินบาท

สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถยื่นหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ขอให้ทบทวนประกาศการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ เผยเสนอแก้เนื้อหา 2 ข้อ อนุญาตให้ธุรกิจจำนำสามารถเรียกเก็บค่าลงพื้นที่ได้-ลดเพดานค้างชำระค่างวดเหลือ 500 บาทจาก 1,000 บาท เหตุผู้ประกอบการรายย่อยปล่อยวงเงินขนาดเล็ก 

วันที่ 22 กันยายน 2564 นายธัญญะ กิจชัยนุกุล เลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือต่อตัวแทนกระทรวงมหาดไทย เรื่องประกาศเรื่องกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 12 กันยายนที่ผ่านมานั้น

โดยสมาคมฯ ได้พบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว จึงต้องการให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการทบทวนเนื้อหาประกาศดังกล่าว โดยมีข้อเสนอ 2 ประการด้วยกัน คือ 1.เรื่องค่าใช้จ่ายภาคสนามที่กำหนดให้สามารถเรียกเก็บการติดตามทวงถามในการลงพื้นที่ได้ 400 บาท ซึ่งประกาศดังกล่าวไม่ได้บรรจุหรืออนุญาตให้ธุรกิจจำนำทะเบียนรถให้สามารถเรียกเก็บได้ แม้ว่าธุรกิจจำนำทะเบียนรถมีลักษณะคล้ายกับธุรกิจเช่าซื้อก็ตาม 

และข้อ 2.การเรียกเก็บค่าทวงถามที่มีค่างวดค้างชำระต่ำกว่า 1,000 บาท จะไม่สามารถเรียกเก็บได้ ซึ่งการกำหนดดังกล่าวไม่สอดคล้องกับธุรกิจจำนำทะเบียนรถ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งวงเงินในการผ่อนชำระต่องวดค่อนข้างต่ำ เช่น รถจักรยายนต์วงเงินกู้ราว 8,000 บาท ซึ่งคำนวณค่างวดเฉลี่ยต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือน ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ตรงนี้ได้ จึงอยากให้ลดเพดานลงมาขอให้ห้ามเรียกเก็บหากลูกหนี้มียอดค้างต่ำกว่า 500 บาทได้หรือไม่ เพราะจะต้นทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กจะต้องรับ ซึ่งอาจกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนที่ต้องการเงิน จากปกติเป็นกลุ่มที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว ทำให้อาจผลักไปกู้หนี้นอกระบบได้

ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดเดิมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนจะมีประกาศฉบับล่าสุด ธปท.จะเป็นผู้ดูแล และอนุญาตให้ธุรกิจจำนำทะเบียนรถสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการลงพื้นที่ได้ โดยจะต้องเรียกเก็บอัตราที่สะท้อนค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉลี่ยในตลาดที่มีการเรียกเก็บจะอยู่ที่ 500-1,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละผู้ประกอบการ 

และค่าทวงถามหนี้กรณีค้างหนี้ 1 งวดจะอยู่ที่ 100-200 บาท ส่วนกรณีค้างชำระเกิน 1 งวดขึ้นไปจะอยู่ที่ 200-400 บาท ซึ่งการเรียกเก็บดังกล่าวจะต้องสามารถชี้แจ้งกับธปท.ได้ว่าอัตราดังกล่าวมาจากส่วนไหนหรืออะไรบ้าง แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดเพดานการเรียกเก็บก็ตาม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ตามประกาศใหม่ คือ ถ้าค้าง 1 งวดเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ไม่เกิน 50 บาท และค้างเกิน 1 งวดขึ้นไปเก็บทวงถามต่อรอบไม่เกิน 100 บาท 

“วันนี้ตัวแทนกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวแทนรับหนังสือ แต่โดยขั้นตอนกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจผู้เดียว แต่มีกระทรวงการคลัง และธปท.ด้วย ซึ่งเราได้มีการยื่นหนังสือไปให้ทั้ง 2 หน่วยงานนี้เช่นกัน ส่วนหลังจากยื่นแล้วอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ก่อนเพื่อพิจารณาต่อไป”